ชัชชาติ แนะ 5 ข้อ แก้วิกฤติโควิด กทม.

เมื่อวานนี้(24 เม.ย. 64) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว อาลัย พี่อัพ VGB ผู้บุกเบิกอีสปอร์ตไทย หลังติดเชื้อโควิดและกักตัวเองอยู่ที่บ้าน 5 วัน จนอาการทรุด เมื่อรถ รพ. มารับไปรักษาก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

โดยข้อความของ นายชัชชาติ ระบุว่า

“ ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ “พี่อัพ VGB” กุลทรัพย์ วัฒนผล

ผมไม่ได้รู้จักคุณอัพเป็นการส่วนตัว แต่น้องในทีมงานมีความคุ้นเคยและเล่าเรื่องคุณอัพให้ฟัง

อ่าน FB ของคุณอัพแล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ และเราได้ยินเรื่องราวที่ไม่น่าจะเกิดแบบนี้หลายๆครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

มันเกิดอะไรขึ้น?

สถานการณ์โควิดของ กทม.น่าเป็นห่วงมากกว่าทุกจังหวัด

(จำนวนผู้ป่วยต่อวัน ย้อนหลัง 5 วัน: 350 365 446 740 1,582)

รพ.ของในกรุงเทพ มีหลายหน่วยงาน เช่น รพ.กทม. รพ.โรงเรียนแพทย์ รพ.กระทรวงสาธารณสุข รพ.หน่วยราชการอื่นเช่น ทหาร ตำรวจ รพ.เอกชน เเต่การที่กรุงเทพมหานครไม่ได้มีระบบบัญชาการรวมศูนย์เหมือนระบบของกระทรวงสาธารณสุขในต่างจังหวัด (สาธารณสุขจังหวัด) ซึ่งอาจทำให้การบริหารจัดการไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ยิ่งตอนนี้ มีประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่าถ้า รพ.แห่งใดตรวจ ตรวจหาการติดเชื้อ COVID เมื่อผลการตรวจเป็น “บวก” รพ.นั้นๆต้องรับผู้ป่วยไว้ ทำให้ รพ.ต่างๆโดยเฉพาะภาคเอกชนไม่ต้องการทำการช่วยตรวจ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วย หาที่ตรวจ Swab ไม่ได้ ทำให้อาจมีการแพร่เชื้อ และเมื่อผู้อาการหนัก ถึงไปหาหมอ หรือเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน

จากการหารือกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในกลุ่ม Better Bangkok เราเห็นว่าควรจะต้องมีการประสานงานศูนย์บัญชาการร่วมเพื่อมีการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. กระทรวงสาธารณสุข รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ รพ.ของส่วนราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึง รพ.เอกชน เพื่อดำเนินการ

1. รวบรวมทรัพยากรที่มีเพื่อบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ตั้งศูนย์ตรวจกลาง เพื่อตรวจเชื้อให้มากที่สุด

3. จัดสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับรองรับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่อาการน้อยและยังไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล อาจให้อยู่ที่บ้าน (ถ้ามีความพร้อม) หรือสถานที่อื่นที่จัดเตรียมไว้เพื่อลดการแพร่เชื้อและลดภาระโรงพยาบาลและมีมาตรการในการติดตามที่เข้มงวดและพร้อมจะรับกลับมารักษาที่ รพ.และให้ยาที่เหมาะสม

4. วางแผนในการจัดตั้ง รพ.เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อเป็นการช่วยผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ได้

5. ขอความร่วมมือ รพ.โรงเรียนแพทย์ รพ.สังกัดอื่นๆ และ รพ.เอกชน เพื่อบริหารจัดการการดูแลรักษาส่งต่อผู้ป่วยร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ในกรุงเทพฯเรามีทรัพยากรและบุคลากรด้านการแพทย์ที่เก่งและมีศักยภาพสูงอยู่มาก ขอเพียงให้มีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบก็จะสามารถพาพวกเราผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

ตอนนี้ทุกๆท่านปฏิบัติงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย อย่าให้ต้องมากังวลเรื่องการบริหารจัดการหรือการขาดแคลนอุปกรณ์อีก ผู้รับผิดชอบต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีมาช่วยสนับสนุนและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ อย่าเอากฎระเบียบมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน

ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขทุกๆท่าน และขอให้ท่านที่ป่วย รักษาตัวหายจากอาการ ปลอดภัยแข็งแรงดีไวๆนะครับ

เราต้องอย่าให้การสูญเสียคุณอัพ อาม่า และคนอื่นๆจากโควิดเป็นเรื่องสูญเปล่า อย่าให้เราต้องใช้ Social Media ในการขอรถพยาบาลหรือหาเตียง เราต้องเรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง เพื่อไม่ให้เรื่องที่ไม่น่าเกิดนี้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆอีกในอนาคต ”