ชื่อ Extend Interactive อาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักเล่นเกมเท่ากับชื่อ เกม A.R.E.S. ที่ขายไปได้นับแสนชุด รวมถึงเกมต่อมา So Many Me ที่ยักษ์ซอฟต์แวร์โลก “ไมโครซอฟท์” ซื้อลิขสิทธิ์ไปใส่ไว้ใน Xbox One
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “เนนิน อนันตบัญชาชัย” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Extend Interactive บริษัทพัฒนาเกมสัญชาติไทยที่นำเกมไทยไปบุกตลาดโลกได้
จากเด็กที่ชื่นชอบการเล่มเกมสู่นักพัฒนา และเจ้าของบริษัทผลิตเกม ปัจจุบันเขายังนั่งเป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (Thai Game Software Industry Association : TGA) อีกตำแหน่ง
บทเรียนนักเล่นสู่นักพัฒนาเกม
“เนนิน” เล่าว่า เขาเป็นเด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ กระทั่งปี 2008 ร่วมกับกลุ่มเพื่อน 3-4 คนใช้เวลา 2 ปี พัฒนาเกมร่วมกัน จนได้เกมแรก A.R.E.S. Extinction Agenda เป็นเกมแนวแอ็กชั่นที่เล่นบนคอมพิวเตอร์พีซี เป็นเกมไทยเกมแรกที่วางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ steam ขายได้ 2-3 แสนชุด ทำให้มีทุนก้อนแรกมาเปิดบริษัท และมองเห็นโอกาสในการทำตลาดเฉพาะ (niche market) ว่าเป็นทางให้บริษัทเกมเล็ก ๆ อยู่ได้
อีกส่วนเกิดจากทิศทาง และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเกมเปลี่ยนจากการทำเกมกล่องวางขายตามร้านค้า ไปสู่การพัฒนาแล้ววางขายบนออนไลน์ ทำให้นักเล่นเกมจากทั่วโลกค้นหาเกมง่ายขึ้น
จาก A.R.E.S. มาสู่ So Many Me เป็นเกมแนวไขปริศนา (Puzzle) ที่ใช้เวลาทำ 4 ปี วางขายปี 2012 แม้จะทำยอดขายได้ไม่ดีเท่าที่ตั้งเป้าไว้ แต่เป็นเกมแนวอินดี้ที่มีผู้เล่นเฉพาะ มีฐานผู้เล่นเดิมอยู่จึงได้รับเลือกจาก “ไมโครซอฟท์” ให้เป็นหนึ่งในเกมใน “เอกซ์บอกซ์วัน” ทำให้มีทุนทำต่อ
และในช่วงนั้น เกมบนมือถือเริ่มได้รับความนิยม (ปี 2014) เขาจึงเริ่มพัฒนาเกมบนมือถือบ้าง นำไปสู่ Pandora Hunter ที่วางตลาดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
“เกมนี้เกิดจากความนิยมในเกมกระดานอย่างเกมเศรษฐี เรานำเอาแคแร็กเตอร์ตัวละคร และเรื่องราวมาผสมกับวัฒนธรรมไทยทำให้ได้รางวัลจากกระทรวงวัฒนธรรม แต่ด้วยความที่ชินกับการทำเกมแบบเก่า ที่ต้องทำให้สมบูรณ์ 100% ก่อนวางขาย ทำให้กว่าจะเสร็จความนิยมเกมแนวนี้ก็ซาไปแล้ว”
“เนนิน” ยอมรับว่า ปรับตัวไม่ทันตลาดเกมมือถือที่มักต้องออกเร็ว และฟรี
Pandora Hunter เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เขาเข้าใจสภาพตลาดเกมมือถือที่แข่งกันรุนแรง และเป็นเวทีของผู้ผลิตเกมจากต่างประเทศที่มีทุนในการดึงผู้ใช้งานผ่านการโฆษณาหลายสิบล้านเหรียญต่อเดือน เพราะเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้จากการซื้อขายไอเท็มในเกม ไม่ใช่ “ตัวเกม” จึงต้องสร้างฐานผู้เล่นให้ได้จำนวนมากภายในเวลาอันสั้นด้วยการให้ดาวน์โหลดฟรี
จับจังหวะเทคโนโลยี
“เนนิน” กล่าวว่า เกมมีวงจรตามเทคโนโลยี โดยเปลี่ยนแปลงทุก 10 ปี จากยุคเกมบนพีซี ต่อมาเกิดฟีเจอร์โฟน และระบบปฏิบัติการ “ซิมเบียน” ทำให้เกมมือถือเข้ามา ส่งผลให้ตลาดเกมมือถือไทยโต จนมาถึงยุคเกมออนไลน์ เกมบน Facebook และการเกิดขึ้นของ steam ในฐานะมาร์เก็ตเพลซของเกมทำให้ตลาดเกมเป็นโกลบอล
เช่นกันกับการมาถึงของเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นโอกาสของเกมแนวใหม่ GameFi ที่เขาเพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ชื่อ Morning Moon Village เป็นเกมปลูกผักทำฟาร์ม ที่นำระบบ yield farming แบบ Defi มาสร้างเป็นเกมที่ผู้เล่นจะได้เรียนรู้วิธีการเป็น yield farmer และสร้างผลตอบแทนเป็นโทเค็นดิจิทัล ไปพร้อมกับความสนุกจากการเล่นเกมสไตล์ทำฟาร์ม จุดเด่นคือขายผลผลิตเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ก้าวแรกสู่สมรภูมิ GameFi
เกมนี้จึงใช้เวลาพัฒนาเพียง 2 ปี ก็เปิด early access พร้อมโชว์โรดแมป การพัฒนาในอนาคตได้
“เนนิน” บอกว่า แม้ที่ผ่านมา จะมีเกม GameFi เกิดขึ้นมาก แต่หลายโปรเจ็กต์สร้างมาเพื่อระดมเงินจากโทเค็น ของเกมแล้วปล่อยทิ้งไป ทำให้อายุ (life circle) สั้นมาก ไม่มีการพัฒนาต่อ ไม่ได้เน้นที่ความสนุกของเกมจริง ๆ ต่างจากสิ่งที่บริษัทเขาทำ
“Morning Moon Village มีเป้าหมายต้องการทำเกมสนุก ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน Defi เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ต้องการทำให้เป็นเกมที่มีความยั่งยืนทำให้ผู้เล่นเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ จริงๆ เกมรูปแบบเดิมก็ยังไปได้ ทำเงินได้มากกว่า แต่นี่คือทางเลือกใหม่”
ปัจจุบัน Morning Moon Village มีมูลค่า (ตีจากเหรียญ LUMI โทเค็นดิจิทัลของเกม) ประมาณ 800 ล้านบาท มีฐานผู้เล่น 3 แสนคน มีผู้เล่นแอ็กทีฟ 25,000 คน/วัน
ผนึกความร่วมมือกับ “บิทคับ”
“เนนิน” ยอมรับว่า การพัฒนา Morning Moon Village ไม่สามารถใช้ความรู้เดิมของทีมเดิมได้ เพราะต้องเรียนรู้เรื่อง Defi, NFT และสมาร์ทคอนแทร็กต์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่
“ช่วงที่เราพัฒนาก็คิดอยู่ว่าจะไปอยู่บนบล็อกเชนอะไรดี ด้วยความที่เราเป็นนักเล่นเกมและเป็นผู้พัฒนาเกมมานาน รู้ว่าปัญหาของผู้เล่น คือความรวดเร็ว และค่าธรรมเนียมที่ถูกหรือฟรี ช่วงนั้น Bitkub Chain เริ่มเปิดตัว ซึ่งเรารู้จักกันก็คิดว่าน่าจะร่วมงานกันได้ จึงขึ้นมาพัฒนาบนบิทคับเชน ร่วมกันทำให้กระเป๋าคริปโต Bitkub Next รองรับเกม และยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการเล่น Morning Moon Village ส่งผลให้ทราฟฟิกโตก้าวกระโดด ทีมบิทคับยังเข้ามาช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ ได้”
Morning Moon Village ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของ Defi ผ่านการปลูกผัก และทำฟาร์ม สอดคล้องกับการทำ yield farming จริง ๆ บน Defi มีการโอน NFT หรือโอนโทเค็นไปมาระหว่างกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้การใช้งานบล็อกเชน Defi และเว็บ 3.0 ได้ง่ายขึ้น
Next Step GameFi 2.0
ที่ผ่านมากระแส GameFi เกิดขึ้นบน Defi เพราะตลาดคริปโตบูมมากทำให้ผู้คนเข้ามาหาทางสร้างรายได้ มากกว่าเพื่อความสนุกจึงเกิดคำว่า play to earn หรือ click to earn ทำให้อายุเกมสั้นมาก อย่างไรก็ตาม พื้นฐานเทคโนโลยีไม่ได้เปลี่ยนไป สเต็ปต่อไปของ GameFi 2.0 จะเป็น play to own เน้นการมีส่วนร่วมกับคอมมิวนิตี้เกม เพื่อให้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ NFT ซึ่งตัวเกมต้องสนุก และมีกิจกรรมที่สนุก ซึ่งบริษัทกำลังจะเปิดตัวเกมใหม่ ภายใต้แนวคิด play to own
“คนทำเกม มีทางเลือกหลากหลายไม่จำเป็นต้องมาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนก็ได้ ไม่ต้องเป็น GameFi ก็ได้ จะทำเกมแบบเดิม หรือบนมือถือก็ได้ แต่ต้องมองหาตลาดเฉพาะของตน จะได้ไม่ต้องใช้งบฯการตลาดสูง หรือไปแข่งกับบริษัทใหญ่”
บทบาทนายก TAGCA
“เนนิน” ยังกล่าวถึงบทบาทในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TAGCA) ด้วยว่า ประเทศไทยมีนักพัฒนาเกมที่มีความสามารถ แต่จำนวน IP หรือ title ที่เป็นของคนไทยน้อยเกินไป จึงอยากให้มีการส่งเสริม และผลักดันให้คนไทยพัฒนาเกมมากขึ้น ที่่ผ่านมา TAGCA ร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ส่งเสริมด้วยการจัดกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ และให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาเกมที่มีความน่าสนใจ
“การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมของเรามุ่งไปในด้านอีสปอร์ตค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ อย่างนักแคสต์เกม นักกีฬาอีสปอร์ต แต่อีปอร์ตวางอยู่บนพื้นฐานของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ดังนั้นประโยชน์ที่คนในอุตสาหกรรมเกมไทยจะได้อาจไม่มาก จึงอยากให้สนับสนุนนักพัฒนาเกมไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ส่งออกลิขสิทธิ์หรือ IP เกมสู่ตลาดโลกมากขึ้น”
“เนนิน” ทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมเกมใหญ่กว่าหนัง และเพลงรวมกัน เพราะเป็นความบันเทิงที่คนใช้เวลาซ้ำ ๆ และจ่ายซ้ำ ๆ จึงมีมูลค่าสูงนับแสนล้านเหรียญสหรัฐ หากมองมายังตลาดเกมไทย จากการสำรวจ โดย TAGCA ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พบว่า มีมูลค่าถึง 3.4 หมื่นล้านบาท แต่เป็นรายได้จาก IP (สินทรัพย์ทางปัญญา) คนไทยเพียง 1-2% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ที่เกิดจากการนำเกมจากต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการในไทย
-
เอเชียซอฟท์ฯ ปั้น New S-curve ผนึก บิทคับ ลุย Hybrid GameFi
-
ก.ล.ต.เตือนนักลงทุน 4 ข้อควรรู้ เมื่อเข้าสู่โลก GameFi