รู้จักนโยบายเซนเซอร์เกมในจีน ที่เข้มงวดอันดับต้น ๆ ของโลก – GamingDose – ข่าวเกม รีวิวเกม บทความเกมจากเกมเมอร์ตัวจริง

ภาพจาก Nikkei Asia

จีนเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างก้าวกระโดดราวกับจรวดความเร็วสูง ทำให้บริษัทหลายแห่งให้ความสนใจที่จะนำเกมของพวกเขาไปเปิดให้เล่นในจีนมากขึ้น แต่การนำเกมให้เล่นในประเทศดังกล่าวนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเนื้อหาอย่างเข้มงวด และแบกรับความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจสร้างความปวดหัวให้เหล่าตัวแทนจำหน่ายกับนักพัฒนาเกม

บทความนี้จะเป็นการทำความรู้จักนโยบายเซนเซอร์เกมในจีน ที่เข้มงวดหรือเอ็กซ์ตรีอันดับต้น ๆ ของโลก แล้วนโยบายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผู้เล่นชาวจีน และธุรกิจเกมทั่วโลกอย่างไรบ้าง สามารถรับชมได้เลย

จีนเคยแบนเกมคอนโซล

china-playstation

ย้อนกลับไปยุค 1980-1990 ช่วงเวลานั้น จีนยังคงนำเข้าวางจำหน่ายเกมคอนโซลได้อย่างถูกกฎหมาย มีเกมเซนเตอร์เป็นสถานที่แหล่งรวมคนรักเกม และอุตสาหกรรมเกมในจีน ก็กำลังเจริญเติบโตตามประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองหลายคนเรียกร้องว่า เกมได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ เช่น เด็กใช้เวลากับการเล่นเกมมากกว่าการเรียนหนังสือ, แอบนอนหลับในเวลาดึก, ทำผลการเรียนไม่ดี และมีอาการเสพติดเกมตามมา ทำให้รัฐบาลจีนกังวลว่าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป เยาวชนที่โตขึ้นอาจมีเส้นทางการงานที่ไม่สดใส เพราะมัวเล่นแต่เกม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ปี 2000 พรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงมีคำสั่งให้แบนการวางจำหน่ายเครื่องเกมคอนโซล และแบนตู้เกมโดยทันที รวมถึงกล่าวว่าสื่อวิดีโอเกมนั้นเปรียบเสมือน “เฮโรอีนอิเล็กทรอนิกส์” ที่มอมเมาเยาวชน

แม้เกมคอนโซลและตู้เกมโดนสั่งงดวางจำหน่ายในประเทศจีน แต่เนื่องจากเครื่อง PC ไม่โดนแบน ทำให้ผู้เล่นเกมหลายคน หันมาเป็นเกมมอร์ชาว PC มากยิ่งขึ้น โดย Allison Yang Jing นักพัฒนาเกมที่เกิดและโตในประเทศจีน (ปัจจุบัน อาศัยในฮ่องกง) กล่าวว่าสาเหตุที่รัฐบาลไม่แบน PC เพราะเชื่อว่าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเรียนรู้ ช่วยเพิ่มเกรดการศึกษาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองหลายคนก็ค้นพบว่าเครื่อง PC นั้น ก็ไม่ต่างจากเกมคอนโซล เพราะมันมีคุณสมบัติสามารถเล่นเกมได้ รวมถึงชาวจีนหลายคน สามารถหาเกม PC มาเล่นได้ง่าย ๆ จากซื้อแผ่นเกมเถื่อนที่มีราคาถูก หรือดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ Torrent

อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ สวรรค์ของเกมเมอร์ชาว PC ตลอดกาล

คล้ายกับหลายประเทศรวมถึงบ้านเรา เนื่องจากช่วงเวลานั้น ความเร็วอินเทอร์เน็ตยังคงช้ามากหากเทียบกับช่วงปัจจุบัน ทำให้เด็ก ๆ หลายคนหันมาใช้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เพื่อเล่นเกม PC ซึ่งผู้ปกครองหลายคน ก็ได้มีการติดต่อร่วมมือกับฝ่ายปกครองของโรงเรียนต่าง ๆ ในการจับนักเรียนที่แอบโดดเรียนไปเล่นเกมที่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่

ปัจจุบัน กฎหมายการแบนเกมคอนโซลในจีนได้ยกเลิกในปี 2015 ส่งผลให้ PlayStation, Xbox และ Nintendo สามารถนำกลับมาวางขายในประเทศได้อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าเกมคอนโซลที่วางจำหน่ายในจีน ต้องผ่านเงื่อนไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลเป็นคนบัญญัติขึ้นมา ซึ่งกฎดังกล่าวมีทั้งความเข้มงวด และสร้างความวุ่นวายให้ทั้งตัวแทนจำหน่ายกับทีมพัฒนาเกมพอสมควร

จีน ประเทศที่ไม่เคยผ่อนคลายจากการเซนเซอร์

ภาพจาก: PC Gamer

อย่างที่เกมเมอร์หลายคนทราบกันดีอยู่แล้ว จีนคือประเทศที่มีการเซนเซอร์สื่อภาพยนตร์และเกมที่มีความเข้มงวดอันดับต้น ๆ ของโลก

ในประเทศจีน มีหน่วยงานใหญ่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า “National Press and Publication Administration” หรือหน่วยบริหารสื่อมวลชนและสิ่งพิมพ์แห่งชาติ โดยพวกเขามีหน้าที่คือคอยตรวจสอบสื่อ, เซนเซอร์เนื้อหา, การอนุมัติให้เกมสามารถวางจำหน่ายหรือเปิดให้เล่นได้ในประเทศ และการบัญญัติกฎระเบียบต่าง ๆ

อ้างอิงจาก Lokman Tsui ผู้เชี่ยวชาญด้านการเซนเซอร์สื่อของจีน เผยว่า สื่อทุกประเภทไม่ว่าภาพยนตร์ งานศิลปะ หรือเกมในจีน ต้องไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพนัน, ความรุนแรง, ฉากโป๊เปลือย, การละเมิดลิขสิทธิ์, ไม่นำเสนอเกี่ยวกับความตาย เช่น กะโหลก, โครงกระดูก, เลือด ฯลฯ, การส่งเสริมลัทธิ รวมถึงไม่มีเปิดเผยข้อมูลความลับของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม บางกฎระเบียบ มีคำอธิบายที่ค่อนข้างกว้างและขาดความชัดเจน เช่น มีการแบนเนื้อหา “ที่เป็นอันตรายต่อศีลธรรมสังคมหรือประเพณีวัฒนธรรมของชาติ” ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีอำนาจในการเซนเซอร์สื่อที่สูงมาก สามารถแบนเนื้อหาได้ทุกอย่างตามที่พวกเขาต้องการตามดุลยพินิจ

“พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าพวกเขาไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้มีอำนาจทางความจริง แต่เขายังเป็นผู้มีอำนาจในทางศีลธรรมด้วย” – Lokman Tsui กล่าว

อ้างอิงจากนักออกแบบคนหนึ่งในทีมพัฒนา Riot Games (ไม่เปิดเผยชื่อ) เผยว่าเนื่องจากกฎระเบียบการนำเข้าเกมสู่ประเทศจีนมีความซับซ้อนมาก ๆ ทำให้ทีมงานต้องคัดกรองเนื้อหาเกมอย่างรอบคอบ เช่น ดัดแปลงหรือทำใหม่สำหรับตัวละครบางตัว เพื่อไม่ให้มีการโชว์โครงกระดูก, เปลี่ยนเลือดจากสีแดงกลายเป็นสีดำ รวมถึงสร้างตัวละครให้ดู “สมเหตุสมผลมากที่สุด” และหลีกเลี่ยงการออกแบบเสื้อผ้าที่ผสมผสานลักษณะการแต่งกายจากทั่วทวีปเอเชีย เพราะอาจทำให้เกมเมอร์ชาวจีนบางคนรู้สึก “สับสน” ได้

การเซนเซอร์มีแต่เข้มข้นมากขึ้น

China

เนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นกฎระเบียบที่บังคับใช้ในจีนมานานมากแล้ว แต่หลังจาก สี จิ้นผิง ได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของจีน และเป็นหัวหน้าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2013 ทำให้การเซนเซอร์สื่อมีความเข้มข้นยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์จีน เริ่มมีแนวคิดต่อต้านการโดนวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติในหลาย ๆ ประเด็น รวมถึงยืนหยัดในหลักการ “นโยบายจีนเดียว” ทำให้รัฐบาล มีการคัดกรองเนื้อหาในสื่อที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นตามมา รวมถึงกดดันให้บริษัทสากลในจีน ต้องทำตามกฎระเบียบของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

ในช่วงปี 2015 จนถึงปัจจุบัน วงการเกมได้เกิดกระแสถกเถียงร้อนแรงมากมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองระหว่างจีน ไต้หวัน ทิเบต และฮ่องกง เช่น กรณีผู้เล่น Hearthstone ชาวฮ่องกงนามว่า Blitzchung ได้ประท้วงกลางการสัมภาษณ์ หลังจบการแข่งขันว่าให้ “ฟรีฮ่องกง” จากจีน ส่งผลทำให้ Blitzchung โดนลงโทษแบนการแข่งขันเกม Hearthstone เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งการแบนดังกล่าว ทำให้ทีมงาน Blizzard โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

เหตุการณ์ Blizzard แบนผู้เล่น Hearthstone เพราะประเด็นทางการเมือง ทำให้บริษัทเกมหลายแห่ง เริ่มมีการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น โดยบางเกมเช่น Guity Gear Strive หรือเกมเก่าวางจำหน่ายใหม่อย่าง Baseball Stars 2 มีการลบชื่อที่อ้างอิงไต้หวันและธงชาติไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกระแสถกเถียง รวมถึงร้านค้าขายเกมดิจิทัล GOG ได้เปลี่ยนใจไม่นำเกม Devotion ที่เคยโดนวิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามีการแอบใส่เนื้อหาล้อเลียน สี จิ้นผิง ว่าเป็นหมีพูห์กลับมาวางขายอีกครั้ง โดยทีมงานบอกเพียงแค่ว่า “เป็นเพราะได้รับข้อความจากเกมเมอร์เป็นจำนวนมาก”

ปัจจุบัน แม้ธุรกิจเกมในจีนกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงมีอำนาจสูงสุดในการสั่งการและควบคุมทุกอุตสาหกรรม โดยในช่วงปี 2018 รัฐบาลจีนเคยมีคำสั่งงดวางจำหน่ายเกมใหม่ทั้งจากจีนและต่างประเทศเป็นเวลา 9 เดือนเต็มโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด รวมถึงยังคงใช้นโยบายจำกัดเวลาเล่นเกมไม่เกิน 4 ทุ่ม สำหรับคนที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี และบริษัทเกมกับ Tech ยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า ลดปัญหาเด็กติดเกมในจีนแอบเล่นเกมกลางดึก

นอกจากนี้ จีนเริ่มแบนเกมที่เอื้อต่อการใช้เพื่อโจมตีวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของจีน และใช้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ไต้หวัน ทิเบต ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วสำหรับเกม Animal Crossing: New Horizons ได้โดนแบนในจีน หลังจากนักเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง Joshua Wong ใช้เกมดังกล่าวในการประท้วงจีน รวมถึง Battlefield 4 โดนแบน หลังเปิดตัว DLC ใหม่ชื่อว่า “China Rising” โดยกระทรวงวัฒนธรรมจีนให้เหตุผลแบนเกมว่า “มีการนำเสนอที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการบุกรุกทางวัฒนธรรม (Cultural Invasion)

Battlefield 4: China Rising

การที่จีนเริ่มเข้มงวดกับการเซนเซอร์สื่อที่เอ็กซ์ตรีมมากขึ้น เหล่าเกมเมอร์และนักพัฒนาเกมก็อดกังวลไม่ได้ เพราะนอกจากเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นการปิดกั้นความคิดเห็นและความรู้สึกอีกด้วย ถึงอย่างนั้น เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีประชากรเกมเมอร์ราว 740 ล้านคน รวมถึงวิดีโอเกมสามารถทำรายได้ให้ประเทศกว่า 45 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2020 จึงเป็นเรื่องยากที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งจะมองข้ามตลาดเกมในจีนไปได้

เป็นเรื่องคาดเดาได้ยากว่าในอนาคต อุตสาหกรรมเกมของจีนจะเดินทางต่อไปในทิศทางไหน แล้วการตัดสินใจของจีนจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกมทั่วโลกมากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดต้องกาลเวลาเป็นตัวพิสูจน์ครับ

แหล่งที่มา: The Guardian