ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีใครเลยที่ทราบว่า Riot Game ได้สร้างและวางแผนสำหรับอนาคตหลังครบ 1 ทศวรรษของพวกเขาไว้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ เพราะนอกจาก League of Legends หนึ่งในเกม MOBA และเกมชั้นนำแถวหน้าที่มีผู้เล่นเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว พวกเขาก็ไม่เคยพูดถึงเกมอื่น ๆ เลย แม้จะมีข่าวหลุดออกมาบ้างเป็นบางครั้งก็ตาม หนึ่งในเกมที่ออกมาหลังจากการเปิดตัวอันเป็นตำนานเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2562 ก็คือ “Legends of Runeterra” หรือ LoR ที่เปลี่ยนจากเกมแนว MOBA กลายเป็นการ์ดเกมที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอยู่ในขณะนี้
LoR คือเส้นทางใหม่ที่ Riot Game เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของ LoL ในอีกมุมมองหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องราวอันเป็นตำนานต่าง ๆ ของจักรวาล LoL เป็นการเล่าในอีกส่วนที่หลาย ๆ คนไม่เคยเห็นมาก่อน หลังจากการทดสอบและอัปเดตหลายตครั้ง เรามาดูกันว่า “LoR” นั้นเป็นอย่างไร จะเป็นเกมที่ดีเยี่ยมได้เหมือน LoL อันเป็นต้นกำเนิดของตัวเองได้หรือไม่ และในฐานะที่เป็นการ์ดเกม เมื่อเทียบกันกับเกมอื่น ๆ แล้ว LoR นั้นถือว่ามีโอกาสที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการได้หรือเปล่า เราไปชมพร้อม ๆ กัน
Story
ก็พอพูดได้อย่างเต็มปากว่า LoR นั้นไม่มีเส้นเรื่องที่เป็นหลักของตัวเอง แต่เราที่เป็นผู้เล่นก็สามารถดื่มด่ำกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่การ์ดแต่ละใบจะบอกเรา ใน LoR การ์ดทุกใบไม่ว่าจะเป็นระดับที่ต่ำสุด หรือการ์ดระดับ Champion ที่ทุกคนรู้จักกันดี ทุกคนล้วนมีเนื้อเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ ระบุเอาไว้ ซึ่งเราก็สามารถเข้าไปอ่านได้ แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของมันในตอนนั้นก็ตาม
การ์ดใน LoR ถูกแบ่งตาม “Regions” ซึ่งก็คือดินแดนต่าง ๆ ในเกมนั่นเอง ประกอบด้วย
- Demacia : ดินแดนแห่งผู้กล้า อัศวินผู้รักความเป็นธรรม ชาวเดมาเซียในเกียรติยศและหน้าที่เหนือสิ่งอื่นใด
- Freljord : ดินแดนน้ำแข็งที่โหดร้ายและไร้ความเมตตา ผู้คนของที่นี่ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นนักรบ
- Ionia : เป็นพื้นที่อันเต็มไปด้วยความลึกลับ เวทมนตร์ และธรรมชาติ บนสมดุลอันเปราะบางในตอนนี้
- Noxus : จักรวรรดิทรงอำนาจ เป็นกลุ่มคนซึ่งทรนง ให้ความสำคัญแก่ความแข็งแกร่งเหนือสิ่งอื่นใด
- Piltover & Zaun : อาณาจักรแห่งเทคโนโลยีและความก้าวหน้า ที่เป็นเหมือนเป็นคู่ตรงข้ามของกันและกัน
- Shadow Isles : แผ่นดินแห่งความตาย ภูตผีและวิญญาณ ที่กำลังค่อย ๆ กัดกิน Runeterra อย่างช้า ๆ
จากที่ก่อนหน้านี้ ที่ Riot เคยกล่าวไว้ว่า ที่จริงพวกเขาแอบซุ่มพัฒนา LoR นี้มาหลายปีแล้วนั้น จากการทดสอบก็ได้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้พูดเกินความจริงเลย การ์ดแต่ละใบไม่ต่างกับผลงานศิลปะที่ถูกสรรสร้างออกมาอย่างวิจิตร พร้อมเนื้อเรื่องของตัวเองในแต่ละใบอย่างที่ได้กล่าวไป เราสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดของการ์ดได้ที่ Collection ของเกม รวมถึงสามารถชมภาพ Splash Art แบบเต็ม ๆ ของทุกใบได้เช่นกัน
แน่นอนว่า นี่คือวิธีการอันแยบยลของเกมที่จะเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้ผู้เล่นจะต้องทำความรู้จักกับการ์ดทุกใบในเกม เพื่อให้เราได้รู้ว่าการ์ดแต่ละใบนั้นมีความสามารถใดอยู่นั่นเอง ทำให้เข้าใจและสามารถสรรคสร้างเทคนิคต่าง ๆ ได้มากขึ้น ในตอนนี้การ์ดใน LoR ก็มีแล้วนับร้อยใบ และแน่นอนว่าจะมีตามมาอีกในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งก็หมายถึงเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่รู้จบอีกด้วย
Presentation
หากจะถามว่า LoR นั้นเหมือน หรือคล้าย ๆ กับเกมการ์ดอื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้หรือไม่ ก็ต้องตอบตามความเป็นจริงว่า “ค่อนข้างเหมือน” แต่นั่นก็ได้ไม่เป็นปัญหาอะไร LoR เองก็มีเอกลักษณ์ของตนที่แสดงออกมาได้ค่อนข้างดี แม้ว่าคุณจะไม่เคยเล่นเกมในจักรวาลของ Runeterra มาก่อนเลยก็ตาม ในส่วนนี้เราจะพูดถึงในส่วนการนำเสนอเนื้อเรื่องกันก่อน
เริ่มจากหน้าต่าง Loading ก่อนเข้าเกม ที่จะเห็นได้ว่าการจัดวางองค์ประกอบภาพนั้นต้องการให้เราสัมผัสได้ถึง 2 อย่าง ได้แก่ Champion ที่เป็นเหมือนตำนาน (Legends) และโลกที่พวกเขา/เธออยู่ ซึ่งก็คือ Runeterra กลายเป็น “Legends of Runeterra” ตามชื่อของเกม ดั่งที่เราจะเห็น Ashe บนยอดเขาใน Freljord ซึ่งเธอก็เป็นตำนานของดินแดนนี้นั่นเอง และอีกภาพคือในหน้าหลักของเกม ที่เราจะเห็น Lux และดินแดน Demacia ของเธอด้วย
จากการที่ LoR เล่าเรื่องผ่านการ์ดแต่ละใบ ทำให้บรรยากาศระหว่างเล่นก็จะเปลี่ยนไปตาม Deck ที่เราเลือกมา การ์ดทุกใบมีเสียงพากย์เป็นของตัวเองเหมือนกับ Hearthstone และมีความสัมพันธ์กับการ์ดอื่น ๆ ด้วย ตามเนื้อเรื่องอย่างลึกซึ้งเหมือนกับ Shadowverse นี้จะเป็นอีกส่วนที่เกมพยายามจะสื่อสารกับเราและบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านตัวละครในเกม ถือเป็นอีกความสนุกที่เราสามารถพบเจอได้ระหว่างเล่น
แม้จะมีความเหมือนกันดังกล่าว แต่การนำเสนอของ LoR นั้นก็เป็นของตัวเอง ยิ่งถ้าเรารู้จักตัวละครต่าง ๆ เหล่านี้มาก่อนแล้วก็ยิ่งจะทำให้เล่นได้อย่างสนุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากคุณเคยเล่น LoL มาก่อน การเล่น LoR จะทำให้เราได้รู้จักกับตัวละครเดิมที่เรารู้จัก แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหา เมื่อเราเล่นไปเรื่อย ๆ ตัวเกมจะทำให้เราอยากรู้ว่า คนคนนี้เป็นใคร ทำไมถึงรู้จักตัวละครนี้ ทำไมคนนี้ถึงพูดแบบนั้น เป็นต้น ซึ่งจะบังคับให้เรากลับไปเปิดเนื้อเรื่องของตัวละครอ่านอย่างที่ได้กล่าวไปนั่นเอง
Gameplay
ทีนี้ก็มาถึงส่วนสำคัญกันบ้าง ในเรื่องของ Gameplay LoR นั้นเป็นเกมการ์ด หากใครเคยเล่นเกมแนวนี้มาแล้วครบทุกเกม เชื่อได้เลยว่าความรู้สึกแรกที่ได้เล่นนั้นมันจะคล้ายกับการเล่นเกมอื่น ๆ หลายเกมรวมกัน มีระบบ AT/HP และ MP ที่เหมือนกับของ Harthstone มีกระดานที่มีชีวิตชีวาคล้ายกับ Artifact การเข้า Phase ที่เป็นระบบเหมือน Yugioh ทั้งหมดเป็นการผสานกันที่ลงตัวใน LoR เกมนี้
เนื่องจากหัวข้อ Gameplay นี้ค่อนข้างใหญ่และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงจะขอรีวิวเป็นส่วน ๆ ดังนี้
Card & Deck
การ์ดใน LoR จะมีด้วยกัน 6 Regions และทุกใบจะมี Regions เป็นของตัวเอง (ไม่การ์ดที่ไม่มีฝั่งอยู่ หรือเป็นอิสระ) การสร้าง Deck สามารถผสมกันได้ระหว่าง 2 Regions โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมิตรกัน (ตามเนื้อเรื่อง) เราสามารถจัด Deck ผสมระหว่าง Demacia และ Noxus ได้หากต้องการ การ์ดใน Deck จะต้องมีทั้งหมด 40 ใบ
การ์ดหลักในเกมนั้นมีเพียง 3 ชนิด ได้แก่ Champions ที่เป็นยูนิตหลักที่จะมีความสามารถเป็นพิเศษที่อ้างอิงมาจากความสามารถใน LoL แชมป์เปี่ยนทุกคนจะมี 2 Level โดยจะสามารถ Level up ได้โดยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น Garen ที่จะ Level up เมื่อต่อสู้ 2 ครั้ง หรือ Darius ที่จะ Level up เมื่อ Life ของอีกฝ่าย (Nexus) เหลือน้อยกว่า 10 เป็นต้น
การ์ดชนิดต่อมาคือการ์ดที่มีจำนวนมากที่สุดในเกม ก็คือบรรดา Follower หรือยูนิตทุกตัวที่ไม่ใช่ Champions โดยจะมีความแตกต่างเพียงอย่างเดียวระหว่าง Follower และ Champions คือพวกเขาจะไม่มีการ Level up และสามารถใส่ได้ตามจำนวนสูงสุดของการจัดเด็ค (Champion จะใส่ได้แค่ 6 ใบ) Follower บางกลุ่มจะเป็นตัวละครที่เอาไว้สนับสนุน Champion โดยเฉพาะ เช่นบรรดาแมงมุมของ Elise เป็นต้น
การ์ดชนิดสุดท้ายคือ Spell โดยจะเป็นความสามารถต่าง ๆ ของตัวละคร โดยหากใครยังจำกันได้ มันก็คือ Skill ต่าง ๆ ของ Champion ใน LoL นั่นเอง Spell นั้นไม่จำกัดว่าใครจะเป็นคนร่าย เช่นหากเราจะใช้ Noxian Giyotin ก็ไม่จำเป็นต้องมี Darius ที่เป็นเจ้าของท่าอยู่ในสนาม แต่ถ้าหากใช้ Noxian Giyotin ตอนที่มี Darius อยู่ เราก็ได้ยินบทพูดพิเศษระหว่างที่ใช้ท่าอีกด้วย
Duel System
ตัวเกมจะแบ่งช่วงการเล่น (Phase) แบบหลวม ๆ ทั้งสองฝ่ายจะพลัดกันเป็นฝ่ายโจมตี-ป้องกันสลับกันไปตลอดทั้งเกม ในแต่ละเทริน ฝ่ายโจมตีจะได้เป็นผู้เริ่ม Action ก่อนเสมอ ตามด้วยการตอบโต้จากอีกฝ่าย และกลับมาที่ฝ่ายโจมตีอีกครั้งสลับกันไปจนกระทั่งจบรอบ การเล่นนี้อาจดูคล้าย ๆ กับของ Hearthstone แต่หากสังเกตดี ๆ จะคล้ายกับระบบ Phase ของ Yugioh มากกว่า อธิบายแบบง่าย ๆ ได้ดังนี้
- เริ่มเทิร์น ฝ่ายโจมตีเป็นคนเริ่มก่อน เขาสามารถใช้ Spell หรือ Summon Unit ได้ 1 ใบ และสามารถโจมตีได้ (สังเกตได้จาก Attack Token)
- เมื่อฝ่ายโจมตีออก Action แล้ว ฝ่ายรับก็สามารถตอบโต้ได้ 1 อย่างแบบเดียวกับฝ่ายโจมตี แต่จะสั่งโจมตีไม่ได้ (เพราะไม่มี Attack Token)
- เมื่อฝ่ายรับออก Action แล้ว ก็จะกลับไปเป็นรอบของฝ่ายโจมตีอีกครั้ง สลับกันไปเช่นนี้เรื่อย ๆ จนจบเทิร์น
- หากฝ่ายโจมตีประกาศโจมตี ฝ่ายรับจะต้องส่งยูนิตออกมาป้องกัน หากไม่สามารถป้องกันได้ จะเป็นการโจมตีโดยตรงไปที่ Nexus
- เมื่อจบช่วงการต่อสู้ ทั้งสองฝ่ายจะยังออก Action ได้ตามปรกติหากทำได้ จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะบอกจบเทริน
- เมื่อจบเทิร์น Attack Token จะย้ายไปยังอีกฝ่าย การเล่นจะหมุนวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนจบเกม
- เกมจะจบลงเมื่อมีฝ่ายที่ Nexus ที่มี Hp 20 หน่วยถูกทำลาย หรือชนะจากเงื่อนไขอื่น ๆ เช่นของ Fiora (ฆ่าได้ 4 ยูนิต)
- การ์ดบางใบสามารถทำให้ฝ่ายตั้งรับ สามารถโจมตีในเทิร์นป้องกันของตัวเองได้ด้วย
ในเรื่องของสมดุลของการ์ด จากการทดสอบก็พบว่า Riot ทำออกมาได้ดีอยู่ไม่น้อย จะมีเพียงบางใบเท่านั้นที่รู้สึกว่าดีเป็นพิเศษ ความสามารถของการ์ดถูกรักษาให้สมดุลด้วยค่าร่ายและเงื่อนไขในการใช้ อันเป็นเรื่องที่ผู้เล่นต้องศึกษาเพื่อดึงมันออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้เรารู้สึกอยากจะลองเล่นการ์ดใบอื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเล่นหรือตัวละครไหนเป็นหลัก ในส่วนของโหมดการเล่นที่เปิดให้เล่นในตอนนี้ก็ได้แก่ PvP, vs AI และ Draft mode (Expedition)
ดังนั้นแล้ว LoR ถือว่าเป็นเกมที่มีระบบไม่ซับซ้อนมากเท่าไหร่ ความสามารถของการ์ดก็เข้าใจง่ายและมีการอธิบายเป็นอย่างดีในทุก ๆ ใบ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นทั้งแบบ Casual และ Hardcore ระบบ AI ในเกมถือว่ามีฝีมือและเก่งพอสมควร สามารถใช้ฝึกซ้อมและใช้ทำเควสต่าง ๆ ได้ด้วย เกม 1 รอบนั้นใช้เวลาไม่นาน ทั่วไปแล้วจะอยู่ราว ๆ 10 เทริน์เท่านั้น
การได้รับ Card
มาถึงส่วนสำคัญมากที่หลายคนน่าจะน่าจะอยากรู้ การได้รับการ์ดจากเกมนี้สามารถหาได้จาก 2 วิธี ก็คือการคราฟ (Craft) และเปิดจากของรางวัลภารกิจ ซึ่งทั้งหมดก็สามารถหาได้ในเกมตามที่ Riot เคยประกาศไว้
ในส่วนของการคราฟ ผู้เล่นสามารถคราฟได้ 3 วิธี คือคราฟโดยใช้ Wildcard ที่ได้รับแบบสุ่มจากการเปิดกล่องรางวัลที่ได้จากเควส/ซื้อได้แบบจำกัดชิ้นในแต่ละสัปดาห์ วิธีที่สองคือ คราฟจาก Shards ที่ได้จากเควส/หลังจากเล่นจบแต่ละเกม และสุดท้ายคือการซื้อโดยตรงโดยใช้เงิน
ในส่วนของการ์ดที่ได้จากภารกิจ เราจะได้การ์ดนั้นจากการทำเควสที่เกมกำหนดเอาไว้ โดยเควสที่ว่าก็สามารถเข้าไปเลือกเล่นได้โดยตรงจากการเล่นในส่วน Regions ของเกม การเปิดกล่อง/ซองเหล่านี้ยังมีโอกาสได้ Wildcard และ Shards คราฟด้วย โดยที่ Riot เคลมว่า เราสามารถหาการ์ดได้ทุกใบที่ต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องเติมเงินแม้แต่บาทเดียวจากระบบที่ว่านี้
Performance
แม้จะเป็นเกมการ์ด แต่ในด้านกราฟิกนั้นก็ไม่ได้น้อยหน้าเกมชื่อดังอื่น ๆ เลย การ์ดบางใบ โดยเฉพาะเหล่า Champions มีแอนิเมชั่นการใช้ความสามารถและตอนที่ Level up เป็นของตัวเอง ที่ถือว่าเวอร์วังอลังการอยู่ไม่น้อย การ์ดอื่น ๆ เช่น Spell ก็มีเอฟเฟคต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาความสามารถของ Video Card ของเราอยู่เช่นกัน
ตัวเกมมีตัวเลือกในการปรับกราฟิกถึงระดับ Ultra การร่าย, การโจมตีและ Action ต่าง ๆ มีความลื่นไหลไม่ขัดตา (แม้ว่าจะมีอาการค้างเป็นบางครั้งเมื่อออก Action เหล่านั้น) ถือว่าทำได้ดีสำหรับเกมที่ไม่ได้เน้นในเรื่องของ Performance เป็นหลักเพราะสิ่งที่ตัวเกมได้พยายามเน้นจริง ๆ คือความสวยงามของการ์ดต่าง ๆ ที่ศิลปินของ Riot ได้สรรสร้างออกมาเป็นอย่างดีมากกว่า
ตัวเกมยังรองรับการเล่นทั้งบนระบบ PC ไปจนถึงมือถือทั้งใน iOS และ Android ซึ่งการเล่นบนมือถือก็เป็นไปอย่างลื่นไหล การบังคับ และออกคำสั่งต่าง ๆ เรียบง่ายและไม่มีอาการสะดุดให้เห็น แต่เพราะตัวเกมมีถือว่ามีการใช้เอฟเฟคอยู่มากหากเทียบกับเกมแนวเดียวกัน ทำให้บางครั้งก็พบเจอกับอาการกระตุกในบางจังหวะบนมือถือที่อาจจะ Spec ไม่แรงมาก แต่โดยรวมแล้วสำหรับผู้เล่นที่อยากมีการ์ดเกม Digital ไว้เล่นบนมือถือนอกบ้าน ตัวเกม LoR เรียกได้ว่าสอบผ่านและจัดเป็นอีกเกมที่ Port ลงมือถือได้ดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับการเล่นบน PC
เรื่องอื่น ๆ
เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับ LoR คือ ตัวเกมจะอยู่รอดได้อย่างไร หรืออยู่รอดได้หรือไม่ในยุคที่การ์ดเกมไม่ได้เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกแล้ว ดังที่เราจะเห็นถึงความล้มเหลวไม่เป็นท่าของ Artifact อันเป็นเกมที่มีลักษณะเหมือนกันหลายอย่าง ทั้งที่เป็นเกมการ์ดเหมือนกัน เป็นเกมที่เป็นอีกภาคของเกม MOBA ชื่อดังเช่นกัน รวมถึงยังมีรูปแบบการเล่นที่คล้าย ๆ กันด้วย
ในเรื่องนี้ จากการทดสอบแล้วก็เรียกได้ว่า “สบายใจได้” เพราะ LoR นั้นแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ Riot ในการสร้างเกมนี้ขึ้นมาให้เป็นอีกภาคของ LoL อย่างแท้จริง เหมือนกับที่ Blizzard สร้าง World of Warcraft ให้เป็นภาคต่อของ Warcraft ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเกมแนวเดียวกันด้วยซ้ำ
จุดหนึ่งที่ดูเล็กน้อยแต่ก็แสดงถึงความใส่ใจของผู้พัฒนาก็คือ ตัวการ์ดเมื่ออยู่ในสนามนั้นจะพยายามปรับให้ตัวเองมีขนาดที่กว้างที่สุด เพื่อให้เราได้เห็นตัว Artwork แบบเต็มใบ ซึ่งก็ชัดเจนว่ามีเอาไว้เพื่อรองรับระบบ Skin ในอนาคตนั่นเอง LoR จึงจะเป็นเกมที่มีสนุกและยังสามารถเพลิดเพลินไปกับการปรับแต่ง Skin ของการ์ดต่าง ๆ ให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองได้ด้วย
โดยสรุปแล้ว หากเทียบกับเกมอื่น ๆ ในแบบเดียวกัน LoR ถือเป็นเกมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในแง่ของความแปลกใหม่และคุณภาพของเกมที่ถือว่าเป็นระดับต้น ๆ ของโลกได้เลย ณ. ตอนนี้ ด้วยแรงเสริมจากทั้ง LoL และเกมอื่น ๆ ของค่าย ก็ไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะได้เห็นการ Collaboration ของ LoR และเกมอื่น ๆ ของค่าย อย่างเช่น VALORAN ที่เราอาจได้เห็นตัวละครจากเกมยิงน้องใหม่ของค่ายนี้มาเป็นการ์ดใน LoR ก็เป็นได้ในภายภาคหน้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสร้างสรรคของ Riot Game ผู้พัฒนาว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่ในตอนนี้ LoR คือหนึ่งในผลงานชิ้นเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย ขอให้ทุกอย่าได้พลาดลอง
Verdict
แม้จะเป็นเกมแนวการ์ดที่มีอยู่มากมายในตลาด แต่ Riot ก็ได้สร้างผลงานที่มีความแปลกใหม่ที่ทุกคนกำลังมองหาอยู่ได้ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ตัวเกมแสดงผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง Beta ตัวเกมมีความรวดเร็วและไม่จำเจแม้ว่าจะเล่น Deck เดิมหลายครั้งก็ตาม ระบบสนันสนุนการเล่นที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย การเข้าถึงการ์ดทำได้ง่ายและเป็นธรรม นี่จะเป็นอีกเกมที่ในอนาคตจะเข้าไปมีบทบาทในวงการ โดยเฉพาะกับ Esports อย่างไม่ต้องสงสัย และถ้าคุณเป็นแฟนของ League of Legends คุณไม่ควรพลาดเกมนี้ด้วนประการทั้งปวง
ใครที่สนใจอยากหาเกมนี้มาลองทดสอบก็เข้าไปโหลดกันได้ ที่นี่ เลยครับ
- Story 9/10
- Presentation 9.5/10
- Gampley 9.5/10
- Performance 9/10
- GamingDose Score 9.25/10