eSport Sponsored
Categories: League of Legend

R

eSport Sponsored
eSport Sponsored

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีใครเลยที่ทราบว่า Riot Game ได้สร้างและวางแผนสำหรับอนาคตหลังครบ 1 ทศวรรษของพวกเขาไว้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ เพราะนอกจาก League of Legends หนึ่งในเกม MOBA และเกมชั้นนำแถวหน้าที่มีผู้เล่นเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว พวกเขาก็ไม่เคยพูดถึงเกมอื่น ๆ เลย แม้จะมีข่าวหลุดออกมาบ้างเป็นบางครั้งก็ตาม  หนึ่งในเกมที่ออกมาหลังจากการเปิดตัวอันเป็นตำนานเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2562 ก็คือ “Legends of Runeterra” หรือ LoR ที่เปลี่ยนจากเกมแนว MOBA กลายเป็นการ์ดเกมที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอยู่ในขณะนี้

LoR คือเส้นทางใหม่ที่ Riot Game เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของ LoL ในอีกมุมมองหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องราวอันเป็นตำนานต่าง ๆ ของจักรวาล LoL เป็นการเล่าในอีกส่วนที่หลาย ๆ คนไม่เคยเห็นมาก่อน หลังจากการทดสอบและอัปเดตหลายตครั้ง เรามาดูกันว่า “LoR” นั้นเป็นอย่างไร จะเป็นเกมที่ดีเยี่ยมได้เหมือน  LoL อันเป็นต้นกำเนิดของตัวเองได้หรือไม่ และในฐานะที่เป็นการ์ดเกม เมื่อเทียบกันกับเกมอื่น ๆ แล้ว LoR นั้นถือว่ามีโอกาสที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการได้หรือเปล่า เราไปชมพร้อม ๆ กัน

Story

ก็พอพูดได้อย่างเต็มปากว่า LoR นั้นไม่มีเส้นเรื่องที่เป็นหลักของตัวเอง แต่เราที่เป็นผู้เล่นก็สามารถดื่มด่ำกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่การ์ดแต่ละใบจะบอกเรา ใน LoR การ์ดทุกใบไม่ว่าจะเป็นระดับที่ต่ำสุด หรือการ์ดระดับ Champion ที่ทุกคนรู้จักกันดี ทุกคนล้วนมีเนื้อเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ ระบุเอาไว้ ซึ่งเราก็สามารถเข้าไปอ่านได้ แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของมันในตอนนั้นก็ตาม

การ์ดใน LoR ถูกแบ่งตาม “Regions” ซึ่งก็คือดินแดนต่าง ๆ ในเกมนั่นเอง ประกอบด้วย

  • Demacia : ดินแดนแห่งผู้กล้า อัศวินผู้รักความเป็นธรรม ชาวเดมาเซียในเกียรติยศและหน้าที่เหนือสิ่งอื่นใด
  • Freljord : ดินแดนน้ำแข็งที่โหดร้ายและไร้ความเมตตา ผู้คนของที่นี่ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นนักรบ
  • Ionia : เป็นพื้นที่อันเต็มไปด้วยความลึกลับ เวทมนตร์ และธรรมชาติ บนสมดุลอันเปราะบางในตอนนี้
  • Noxus : จักรวรรดิทรงอำนาจ เป็นกลุ่มคนซึ่งทรนง ให้ความสำคัญแก่ความแข็งแกร่งเหนือสิ่งอื่นใด
  • Piltover & Zaun : อาณาจักรแห่งเทคโนโลยีและความก้าวหน้า ที่เป็นเหมือนเป็นคู่ตรงข้ามของกันและกัน
  • Shadow Isles : แผ่นดินแห่งความตาย ภูตผีและวิญญาณ ที่กำลังค่อย ๆ กัดกิน Runeterra อย่างช้า ๆ
เนื้อเรื่องของดินแดนต่าง ๆ ที่สามารถเลือกเล่นได้หลังจากจบช่วง Prologue

จากที่ก่อนหน้านี้ ที่ Riot เคยกล่าวไว้ว่า ที่จริงพวกเขาแอบซุ่มพัฒนา LoR นี้มาหลายปีแล้วนั้น จากการทดสอบก็ได้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้พูดเกินความจริงเลย การ์ดแต่ละใบไม่ต่างกับผลงานศิลปะที่ถูกสรรสร้างออกมาอย่างวิจิตร พร้อมเนื้อเรื่องของตัวเองในแต่ละใบอย่างที่ได้กล่าวไป เราสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดของการ์ดได้ที่ Collection ของเกม รวมถึงสามารถชมภาพ Splash Art แบบเต็ม ๆ ของทุกใบได้เช่นกัน

สามารถเข้าชมเนื้อเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และ Splash Art ของการ์ดได้ที่ Collection ของเกม

แน่นอนว่า นี่คือวิธีการอันแยบยลของเกมที่จะเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้ผู้เล่นจะต้องทำความรู้จักกับการ์ดทุกใบในเกม เพื่อให้เราได้รู้ว่าการ์ดแต่ละใบนั้นมีความสามารถใดอยู่นั่นเอง ทำให้เข้าใจและสามารถสรรคสร้างเทคนิคต่าง ๆ ได้มากขึ้น ในตอนนี้การ์ดใน LoR ก็มีแล้วนับร้อยใบ และแน่นอนว่าจะมีตามมาอีกในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งก็หมายถึงเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่รู้จบอีกด้วย

Presentation

หากจะถามว่า LoR นั้นเหมือน หรือคล้าย ๆ กับเกมการ์ดอื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้หรือไม่ ก็ต้องตอบตามความเป็นจริงว่า “ค่อนข้างเหมือน” แต่นั่นก็ได้ไม่เป็นปัญหาอะไร LoR เองก็มีเอกลักษณ์ของตนที่แสดงออกมาได้ค่อนข้างดี แม้ว่าคุณจะไม่เคยเล่นเกมในจักรวาลของ Runeterra มาก่อนเลยก็ตาม ในส่วนนี้เราจะพูดถึงในส่วนการนำเสนอเนื้อเรื่องกันก่อน

เริ่มจากหน้าต่าง Loading ก่อนเข้าเกม ที่จะเห็นได้ว่าการจัดวางองค์ประกอบภาพนั้นต้องการให้เราสัมผัสได้ถึง 2 อย่าง ได้แก่ Champion ที่เป็นเหมือนตำนาน (Legends) และโลกที่พวกเขา/เธออยู่ ซึ่งก็คือ Runeterra กลายเป็น “Legends of Runeterra” ตามชื่อของเกม ดั่งที่เราจะเห็น Ashe บนยอดเขาใน Freljord ซึ่งเธอก็เป็นตำนานของดินแดนนี้นั่นเอง และอีกภาพคือในหน้าหลักของเกม ที่เราจะเห็น Lux และดินแดน Demacia ของเธอด้วย

Ashe และดินแดนของเธอ Freljord ในหน้าต่าง Loading ก่อนเข้าเกม
Darius และดินแดน Noxus

จากการที่ LoR เล่าเรื่องผ่านการ์ดแต่ละใบ ทำให้บรรยากาศระหว่างเล่นก็จะเปลี่ยนไปตาม Deck ที่เราเลือกมา การ์ดทุกใบมีเสียงพากย์เป็นของตัวเองเหมือนกับ Hearthstone และมีความสัมพันธ์กับการ์ดอื่น ๆ ด้วย ตามเนื้อเรื่องอย่างลึกซึ้งเหมือนกับ Shadowverse นี้จะเป็นอีกส่วนที่เกมพยายามจะสื่อสารกับเราและบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านตัวละครในเกม ถือเป็นอีกความสนุกที่เราสามารถพบเจอได้ระหว่างเล่น

แม้จะมีความเหมือนกันดังกล่าว แต่การนำเสนอของ LoR นั้นก็เป็นของตัวเอง ยิ่งถ้าเรารู้จักตัวละครต่าง ๆ เหล่านี้มาก่อนแล้วก็ยิ่งจะทำให้เล่นได้อย่างสนุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากคุณเคยเล่น LoL มาก่อน การเล่น LoR จะทำให้เราได้รู้จักกับตัวละครเดิมที่เรารู้จัก แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหา เมื่อเราเล่นไปเรื่อย ๆ ตัวเกมจะทำให้เราอยากรู้ว่า คนคนนี้เป็นใคร ทำไมถึงรู้จักตัวละครนี้ ทำไมคนนี้ถึงพูดแบบนั้น เป็นต้น ซึ่งจะบังคับให้เรากลับไปเปิดเนื้อเรื่องของตัวละครอ่านอย่างที่ได้กล่าวไปนั่นเอง

แม้แต่การ์ดธรรมดา ๆ ก็มีบทพูดที่น่าสนใจเช่นกัน

Gameplay

ทีนี้ก็มาถึงส่วนสำคัญกันบ้าง ในเรื่องของ Gameplay LoR นั้นเป็นเกมการ์ด หากใครเคยเล่นเกมแนวนี้มาแล้วครบทุกเกม เชื่อได้เลยว่าความรู้สึกแรกที่ได้เล่นนั้นมันจะคล้ายกับการเล่นเกมอื่น ๆ หลายเกมรวมกัน มีระบบ AT/HP และ MP ที่เหมือนกับของ Harthstone มีกระดานที่มีชีวิตชีวาคล้ายกับ Artifact การเข้า Phase ที่เป็นระบบเหมือน Yugioh ทั้งหมดเป็นการผสานกันที่ลงตัวใน LoR เกมนี้

เนื่องจากหัวข้อ Gameplay นี้ค่อนข้างใหญ่และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงจะขอรีวิวเป็นส่วน ๆ ดังนี้

Card & Deck

การ์ดใน LoR จะมีด้วยกัน 6 Regions และทุกใบจะมี Regions เป็นของตัวเอง (ไม่การ์ดที่ไม่มีฝั่งอยู่ หรือเป็นอิสระ) การสร้าง Deck สามารถผสมกันได้ระหว่าง 2 Regions โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมิตรกัน (ตามเนื้อเรื่อง) เราสามารถจัด Deck ผสมระหว่าง Demacia และ Noxus ได้หากต้องการ การ์ดใน Deck จะต้องมีทั้งหมด 40 ใบ

การ์ดหลักในเกมนั้นมีเพียง 3 ชนิด ได้แก่ Champions ที่เป็นยูนิตหลักที่จะมีความสามารถเป็นพิเศษที่อ้างอิงมาจากความสามารถใน LoL แชมป์เปี่ยนทุกคนจะมี 2 Level โดยจะสามารถ Level up ได้โดยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น Garen ที่จะ Level up เมื่อต่อสู้ 2 ครั้ง หรือ Darius ที่จะ Level up เมื่อ Life ของอีกฝ่าย (Nexus) เหลือน้อยกว่า 10 เป็นต้น

Champion ส่วนหนึ่งของเกม แต่ละคนจะมีเงื่อนไข Level up ที่ต่างกัน
ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างดินแดน เราสามารถจัดเด็คที่มีตัวละครจากสองฝ่ายที่เป็นศัตรูกันได้

การ์ดชนิดต่อมาคือการ์ดที่มีจำนวนมากที่สุดในเกม ก็คือบรรดา Follower หรือยูนิตทุกตัวที่ไม่ใช่ Champions โดยจะมีความแตกต่างเพียงอย่างเดียวระหว่าง Follower และ Champions คือพวกเขาจะไม่มีการ Level up และสามารถใส่ได้ตามจำนวนสูงสุดของการจัดเด็ค (Champion จะใส่ได้แค่ 6 ใบ) Follower บางกลุ่มจะเป็นตัวละครที่เอาไว้สนับสนุน Champion โดยเฉพาะ เช่นบรรดาแมงมุมของ Elise เป็นต้น

Followers จะไม่เหมือน Champions อย่างเดียว คือพวกเขา Level up ไม่ได้

การ์ดชนิดสุดท้ายคือ Spell โดยจะเป็นความสามารถต่าง ๆ ของตัวละคร โดยหากใครยังจำกันได้ มันก็คือ Skill ต่าง ๆ ของ Champion ใน LoL นั่นเอง Spell นั้นไม่จำกัดว่าใครจะเป็นคนร่าย เช่นหากเราจะใช้ Noxian Giyotin ก็ไม่จำเป็นต้องมี Darius ที่เป็นเจ้าของท่าอยู่ในสนาม แต่ถ้าหากใช้ Noxian Giyotin ตอนที่มี Darius อยู่ เราก็ได้ยินบทพูดพิเศษระหว่างที่ใช้ท่าอีกด้วย

Spell นั้นมีหลากหลายชนิดมาก บางใบจะทำให้ Champion หรือ Follower บางคนมีบทพูดพิเศษด้วย

Duel System

ตัวเกมจะแบ่งช่วงการเล่น (Phase) แบบหลวม ๆ ทั้งสองฝ่ายจะพลัดกันเป็นฝ่ายโจมตี-ป้องกันสลับกันไปตลอดทั้งเกม ในแต่ละเทริน ฝ่ายโจมตีจะได้เป็นผู้เริ่ม Action ก่อนเสมอ ตามด้วยการตอบโต้จากอีกฝ่าย และกลับมาที่ฝ่ายโจมตีอีกครั้งสลับกันไปจนกระทั่งจบรอบ การเล่นนี้อาจดูคล้าย ๆ กับของ Hearthstone แต่หากสังเกตดี ๆ จะคล้ายกับระบบ Phase ของ Yugioh มากกว่า อธิบายแบบง่าย ๆ ได้ดังนี้

  • เริ่มเทิร์น ฝ่ายโจมตีเป็นคนเริ่มก่อน เขาสามารถใช้ Spell หรือ Summon Unit ได้ 1 ใบ และสามารถโจมตีได้ (สังเกตได้จาก Attack Token)
  • เมื่อฝ่ายโจมตีออก Action แล้ว ฝ่ายรับก็สามารถตอบโต้ได้ 1 อย่างแบบเดียวกับฝ่ายโจมตี แต่จะสั่งโจมตีไม่ได้ (เพราะไม่มี Attack Token)
  • เมื่อฝ่ายรับออก Action แล้ว ก็จะกลับไปเป็นรอบของฝ่ายโจมตีอีกครั้ง สลับกันไปเช่นนี้เรื่อย ๆ จนจบเทิร์น
  • หากฝ่ายโจมตีประกาศโจมตี ฝ่ายรับจะต้องส่งยูนิตออกมาป้องกัน หากไม่สามารถป้องกันได้ จะเป็นการโจมตีโดยตรงไปที่ Nexus
  • เมื่อจบช่วงการต่อสู้ ทั้งสองฝ่ายจะยังออก Action ได้ตามปรกติหากทำได้ จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะบอกจบเทริน
  • เมื่อจบเทิร์น Attack Token จะย้ายไปยังอีกฝ่าย การเล่นจะหมุนวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนจบเกม
  • เกมจะจบลงเมื่อมีฝ่ายที่ Nexus ที่มี Hp 20 หน่วยถูกทำลาย หรือชนะจากเงื่อนไขอื่น ๆ เช่นของ Fiora (ฆ่าได้ 4 ยูนิต)
  • การ์ดบางใบสามารถทำให้ฝ่ายตั้งรับ สามารถโจมตีในเทิร์นป้องกันของตัวเองได้ด้วย

ในเรื่องของสมดุลของการ์ด จากการทดสอบก็พบว่า Riot ทำออกมาได้ดีอยู่ไม่น้อย จะมีเพียงบางใบเท่านั้นที่รู้สึกว่าดีเป็นพิเศษ ความสามารถของการ์ดถูกรักษาให้สมดุลด้วยค่าร่ายและเงื่อนไขในการใช้ อันเป็นเรื่องที่ผู้เล่นต้องศึกษาเพื่อดึงมันออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้เรารู้สึกอยากจะลองเล่นการ์ดใบอื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเล่นหรือตัวละครไหนเป็นหลัก ในส่วนของโหมดการเล่นที่เปิดให้เล่นในตอนนี้ก็ได้แก่ PvP, vs AI และ Draft mode (Expedition)

ดังนั้นแล้ว LoR ถือว่าเป็นเกมที่มีระบบไม่ซับซ้อนมากเท่าไหร่ ความสามารถของการ์ดก็เข้าใจง่ายและมีการอธิบายเป็นอย่างดีในทุก ๆ ใบ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นทั้งแบบ Casual และ Hardcore ระบบ AI ในเกมถือว่ามีฝีมือและเก่งพอสมควร สามารถใช้ฝึกซ้อมและใช้ทำเควสต่าง ๆ ได้ด้วย เกม 1 รอบนั้นใช้เวลาไม่นาน ทั่วไปแล้วจะอยู่ราว ๆ 10 เทริน์เท่านั้น

การได้รับ Card

มาถึงส่วนสำคัญมากที่หลายคนน่าจะน่าจะอยากรู้ การได้รับการ์ดจากเกมนี้สามารถหาได้จาก 2 วิธี ก็คือการคราฟ (Craft) และเปิดจากของรางวัลภารกิจ ซึ่งทั้งหมดก็สามารถหาได้ในเกมตามที่ Riot เคยประกาศไว้

ในส่วนของการคราฟ ผู้เล่นสามารถคราฟได้ 3 วิธี คือคราฟโดยใช้ Wildcard ที่ได้รับแบบสุ่มจากการเปิดกล่องรางวัลที่ได้จากเควส/ซื้อได้แบบจำกัดชิ้นในแต่ละสัปดาห์ วิธีที่สองคือ คราฟจาก Shards ที่ได้จากเควส/หลังจากเล่นจบแต่ละเกม และสุดท้ายคือการซื้อโดยตรงโดยใช้เงิน

เราสามารถเลือกได้ว่าจะคราฟการ์ดโดยใช้วัตถุดิบเป็นอะไร

ในส่วนของการ์ดที่ได้จากภารกิจ เราจะได้การ์ดนั้นจากการทำเควสที่เกมกำหนดเอาไว้ โดยเควสที่ว่าก็สามารถเข้าไปเลือกเล่นได้โดยตรงจากการเล่นในส่วน Regions ของเกม การเปิดกล่อง/ซองเหล่านี้ยังมีโอกาสได้ Wildcard และ Shards คราฟด้วย โดยที่ Riot เคลมว่า เราสามารถหาการ์ดได้ทุกใบที่ต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องเติมเงินแม้แต่บาทเดียวจากระบบที่ว่านี้

เราจะได้เปิดกล่อง/ของรางวัลจากการเล่นในภารกิจต่าง ๆ

Performance

แม้จะเป็นเกมการ์ด แต่ในด้านกราฟิกนั้นก็ไม่ได้น้อยหน้าเกมชื่อดังอื่น ๆ เลย การ์ดบางใบ โดยเฉพาะเหล่า Champions มีแอนิเมชั่นการใช้ความสามารถและตอนที่ Level up เป็นของตัวเอง ที่ถือว่าเวอร์วังอลังการอยู่ไม่น้อย การ์ดอื่น ๆ เช่น Spell ก็มีเอฟเฟคต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาความสามารถของ Video Card ของเราอยู่เช่นกัน

ตัวเกมมีตัวเลือกในการปรับกราฟิกถึงระดับ Ultra การร่าย, การโจมตีและ Action ต่าง ๆ มีความลื่นไหลไม่ขัดตา (แม้ว่าจะมีอาการค้างเป็นบางครั้งเมื่อออก Action เหล่านั้น) ถือว่าทำได้ดีสำหรับเกมที่ไม่ได้เน้นในเรื่องของ Performance เป็นหลักเพราะสิ่งที่ตัวเกมได้พยายามเน้นจริง ๆ คือความสวยงามของการ์ดต่าง ๆ ที่ศิลปินของ Riot ได้สรรสร้างออกมาเป็นอย่างดีมากกว่า

ตัวเกมยังรองรับการเล่นทั้งบนระบบ PC ไปจนถึงมือถือทั้งใน iOS และ Android ซึ่งการเล่นบนมือถือก็เป็นไปอย่างลื่นไหล การบังคับ และออกคำสั่งต่าง ๆ เรียบง่ายและไม่มีอาการสะดุดให้เห็น แต่เพราะตัวเกมมีถือว่ามีการใช้เอฟเฟคอยู่มากหากเทียบกับเกมแนวเดียวกัน ทำให้บางครั้งก็พบเจอกับอาการกระตุกในบางจังหวะบนมือถือที่อาจจะ Spec ไม่แรงมาก  แต่โดยรวมแล้วสำหรับผู้เล่นที่อยากมีการ์ดเกม Digital ไว้เล่นบนมือถือนอกบ้าน ตัวเกม LoR เรียกได้ว่าสอบผ่านและจัดเป็นอีกเกมที่ Port ลงมือถือได้ดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับการเล่นบน PC

แม้จะเป็นการ์ดเกม แต่ก็มีเอฟเฟคหนัก ๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรเครื่องอยู่เช่นกัน
Champions ทุกคนจะมีท่า Level up ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

เรื่องอื่น ๆ

เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับ LoR คือ ตัวเกมจะอยู่รอดได้อย่างไร หรืออยู่รอดได้หรือไม่ในยุคที่การ์ดเกมไม่ได้เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกแล้ว ดังที่เราจะเห็นถึงความล้มเหลวไม่เป็นท่าของ Artifact อันเป็นเกมที่มีลักษณะเหมือนกันหลายอย่าง ทั้งที่เป็นเกมการ์ดเหมือนกัน เป็นเกมที่เป็นอีกภาคของเกม MOBA ชื่อดังเช่นกัน รวมถึงยังมีรูปแบบการเล่นที่คล้าย ๆ กันด้วย

ในเรื่องนี้ จากการทดสอบแล้วก็เรียกได้ว่า “สบายใจได้” เพราะ LoR นั้นแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ Riot ในการสร้างเกมนี้ขึ้นมาให้เป็นอีกภาคของ LoL อย่างแท้จริง เหมือนกับที่ Blizzard สร้าง World of Warcraft ให้เป็นภาคต่อของ Warcraft ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเกมแนวเดียวกันด้วยซ้ำ

จุดหนึ่งที่ดูเล็กน้อยแต่ก็แสดงถึงความใส่ใจของผู้พัฒนาก็คือ ตัวการ์ดเมื่ออยู่ในสนามนั้นจะพยายามปรับให้ตัวเองมีขนาดที่กว้างที่สุด เพื่อให้เราได้เห็นตัว Artwork แบบเต็มใบ ซึ่งก็ชัดเจนว่ามีเอาไว้เพื่อรองรับระบบ Skin ในอนาคตนั่นเอง LoR จึงจะเป็นเกมที่มีสนุกและยังสามารถเพลิดเพลินไปกับการปรับแต่ง Skin ของการ์ดต่าง ๆ ให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองได้ด้วย

สามารถจัดเด็คได้อย่างหลากหลาย แล้วแต่เทคนิคและความรู้ในความสามารถของการ์ดที่แต่ละคนมี
ลักษณะของการ์ดหากมีใบเดียว
ลักษณะของการ์ดในเกมหากมีอยู่ 3 ใบ การ์ดพยายามที่จะทำให้ผู้เล่นเห็นตัว Artwork มากที่สุด
ลักษณะของการ์ดในเกมหากมีเต็มพื้นที่ 6 ใบ จะเห็นว่าการ์ดสามารถปรับขนาดตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเกมจะเปิดให้เล่นแบบ Free-to-play แต่ผ Riot ก็เปิดโอกาศให้ผู้เล่นได้เข้าถึงการ์ดบางส่วนได้โดยใช้เงินจริง ๆ เช่นกัน แต่จะมีการจำกัดการเข้าถึงนี้อย่างเป็นระบบ โดยในตอนนี้ มีเพียงตัว Starter Bundle เท่านั้นที่สามารถทำให้เราได้การ์ดมาได้ทันที ส่วนการซื้อ Wildcard ที่ใช้ในการแลกการ์ดนั้น ถูกจำกัดการซื้อต่อสัปดาห์ และในส่วนของ Skin ก็เป็นเพียงการตกแต่งเพื่อความสวยงาม ไม่ได้มีผลต่อการเล่นแต่อย่างใด

โดยสรุปแล้ว หากเทียบกับเกมอื่น ๆ ในแบบเดียวกัน LoR ถือเป็นเกมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในแง่ของความแปลกใหม่และคุณภาพของเกมที่ถือว่าเป็นระดับต้น ๆ ของโลกได้เลย ณ. ตอนนี้ ด้วยแรงเสริมจากทั้ง LoL และเกมอื่น ๆ ของค่าย ก็ไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะได้เห็นการ Collaboration ของ LoR และเกมอื่น ๆ ของค่าย อย่างเช่น VALORAN ที่เราอาจได้เห็นตัวละครจากเกมยิงน้องใหม่ของค่ายนี้มาเป็นการ์ดใน LoR ก็เป็นได้ในภายภาคหน้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสร้างสรรคของ Riot Game ผู้พัฒนาว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่ในตอนนี้ LoR คือหนึ่งในผลงานชิ้นเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย ขอให้ทุกอย่าได้พลาดลอง

Starter Bundle ที่จะช่วยให้การเล่นในช่วงต้นเกมง่ายขึ้น
Wildcard ถูกจำกัดการซื้อต่อสัปดาห์
Skin ของ Guardians ที่สามารถเลือกซื้อเปลี่ยนได้

Verdict

แม้จะเป็นเกมแนวการ์ดที่มีอยู่มากมายในตลาด แต่ Riot ก็ได้สร้างผลงานที่มีความแปลกใหม่ที่ทุกคนกำลังมองหาอยู่ได้ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ตัวเกมแสดงผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง Beta ตัวเกมมีความรวดเร็วและไม่จำเจแม้ว่าจะเล่น Deck เดิมหลายครั้งก็ตาม ระบบสนันสนุนการเล่นที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย การเข้าถึงการ์ดทำได้ง่ายและเป็นธรรม นี่จะเป็นอีกเกมที่ในอนาคตจะเข้าไปมีบทบาทในวงการ โดยเฉพาะกับ Esports อย่างไม่ต้องสงสัย และถ้าคุณเป็นแฟนของ League of Legends คุณไม่ควรพลาดเกมนี้ด้วนประการทั้งปวง

ใครที่สนใจอยากหาเกมนี้มาลองทดสอบก็เข้าไปโหลดกันได้ ที่นี่ เลยครับ

  • Story 9/10
  • Presentation 9.5/10
  • Gampley 9.5/10
  • Performance 9/10
  • GamingDose Score 9.25/10

eSport Sponsored
อีสปอร์ต

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.