ฝันให้ไกล ต้องไปให้ถึง Garena วางเป้า สร้างไทยสู่ฮับแห่งอีสปอร์ต – มติชน

หากมีคนบอกว่า ไทยจะเป็น “ฮับ” หรือศูนย์กลางของแวดวงอีสปอร์ตแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายคนอาจมองว่า คงเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อมเกินไป เพราะอีสปอร์ตในไทยเพิ่งบูมได้ไม่นาน

แต่ในความคิดของ ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) บริษัทแม่ของดิจิทัลแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยอย่าง Shopee, AirPay รวมถึง Garena ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ และโต้โผใหญ่ในการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตหลายรายการของไทย เขาเชื่อมั่นสุดหัวใจว่า อีกไม่นาน ไทยจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างแน่นอน

อะไรดลใจให้ ดร.ศรุต มองไกลไปถึงขั้นนี้? ลองค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน

หลักฐานเชิงประจักษ์กับฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน เกมอาจเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมในวงแคบๆ แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับสมาร์ทโฟนมีราคาถูกลง เกมจึงกลายเป็นความบันเทิงที่ผู้คนเข้าถึงง่ายขึ้น 

ดร.ศรุต เอาตัวเลขมาโชว์ให้เห็นว่า การเติบโตของแวดวงอีสปอร์ต ไม่เพียงแค่ในไทย แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะปี 2564 เพียงปีเดียว สามารถสร้างมูลค่าสูงถึง 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.3 พันล้านบาท และยังคาดว่าในปี 2567 จะพุ่งถึง 72 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4 พันล้านบาทเลยทีเดียว!

ผู้บริหาร Garena ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ตลาดไทยน่าสนใจ มาจากกระแสตอบรับของงาน Garena World มหกรรมอีสปอร์ตสุดยิ่งใหญ่ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในไทย ซึ่งงานในปี 2562 ที่จัดในรูปแบบออฟไลน์ มีคนมาร่วมงานกว่า 3 แสนคน ส่วนงาน Garena World 2021: Virtual Unite ซึ่งเปลี่ยนมาจัดในรูปแบบออนไลน์ มียอดคนเข้าชมจากทั่วโลกสูงถึง 1.2 ล้านคน

ตัวเลขดังกล่าว ทำให้ ดร.ศรุต และ Garena มองเห็นความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยน่าจะกลายเป็นฮับหรือศูนย์กลางของวงการอีสปอร์ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยาก

“งานนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเติบโต ถ้าใครอยากมาลงทุนด้านเกม ด้านอีสปอร์ตในภูมิภาคนี้ ไทยน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ และถ้าดึงดูดคนจากต่างประเทศได้ ก็จะก่อให้เกิดเม็ดเงินมหาศาลจากการจัดแข่งนานาชาติ และอาจเกิดเป็น Sport Tourism ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาดูการแข่งขัน” ดร.ศรุต มองการณ์ไกล

หายใจรดต้นคอผู้นำเกมแห่งเอเชีย

หากต้องการให้ไทยเป็นผู้นำด้านเกมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาครัฐจำเป็นต้องทำงานอย่างแข็งขัน ดร.ศรุต ยอมรับว่า ที่ผ่านมา การประกาศให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพ ถือเป็นการสนับสนุนอีสปอร์ตครั้งสำคัญของภาครัฐ 

“สมัยก่อนประเทศจีนและเกาหลีใต้ ค่อนข้างขึ้นชื่อด้านอีสปอร์ต แต่ 3-4 ปีหลังมานี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตเร็วมากๆ ทั้งที่เพิ่งสนใจเรื่องเกม ในไทยเองเกิดการพัฒนานักกีฬาที่เป็นระบบ เกิดลีกอาชีพ เช่น RoV Pro League และ Free Fire Pro League ส่วนในระดับนานาชาติ ทีมไทยก็คว้าชัยชนะหลายรายการ รวมทั้งล่าสุดที่ทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ได้แชมป์ RoV มาครอง จนทุกวันนี้เราตามหลังอยู่ไม่ไกลแล้ว”

แต่หากอยากเห็นวงการอีสปอร์ตเติบโตอย่างยั่งยืนสมกับเป้าที่วางไว้ ผู้บริหาร Garena เชื่อว่า ต้องให้ความสำคัญกับทุกอาชีพในแวดวงนี้ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่แข็งแรงตามมา

“การแข่งอีสปอร์ตไม่ได้มีแค่นักกีฬา แต่ยังมีโค้ช ผู้ฝึกสอน และคนทำงานตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ฝั่งของผู้จัดการแข่งขันก็มีทีมโปรดักชั่นตำแหน่งต่างๆ และการสร้างเกมก็ต้องอาศัยดีไซเนอร์ แอนิเมเตอร์ เพื่อผลักดันให้เกิดดิจิทัลคอนเทนต์ที่แข็งแกร่ง ไม่เพียงแค่นั้น แคสเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ด้านเกมก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะพวกเขาทำให้เกมสนุกขึ้น ดึงดูดให้คนสนใจเรื่องเกมมากขึ้นด้วย ถ้าช่วยสนับสนุนอาชีพเหล่านี้ น่าจะทำให้ไทยเติบโตได้มาก” บอสใหญ่ Sea (Thailand) มั่นใจ

หาแนวร่วมรุ่นใหญ่ ร่วมสนับสนุนฝันของคนรุ่นใหม่

อีสปอร์ตก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ตามมามากมาย แต่หลายคนอาจยังมองไม่เห็นความสำคัญของอาชีพเหล่านี้ ดัง อีกภารกิจสำคัญของ ดร.ศรุต และ Garena คือ ต้องปูพื้นฐานให้ผู้คนเข้าใจเกี่ยวกับแวดวงเกมมากขึ้น ด้วยการผลักดันโครงการ Garena Academy เพื่อใช้เป็นแหล่งแนะแนวผู้ที่สนใจด้านนี้ให้เดินไปถูกทาง

“เรารู้ว่าน้องๆ หลายคนสนใจอาชีพเกี่ยวกับวงการอีสปอร์ต แต่มันเป็นอาชีพที่ใหม่มากๆ เลยอาจยังไม่รู้ว่าต้องเรียนอะไร และต้องมีทักษะใดบ้าง เป้าหมายของ Garena Academy คือการแนะแนว และให้ทุกคนสำรวจตัวเองว่า เหมาะกับอาชีพด้านนี้อย่างไรบ้าง” 

ดร.ศรุต เชื่อว่า พ่อแม่และครูในปัจจุบันมีแนวคิดเกี่ยวกับเกมที่ไม่เหมือนพ่อแม่ผู้ปกครองยุคก่อนแล้ว และน่าจะสนับสนุนบุตรหลานให้กล้าลุยตามฝันมากกว่าที่เคยเป็น

“แนวโน้มของพ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบัน เป็นไปในทางบวกมากขึ้น อาจเพราะพ่อแม่ในยุคนี้ก็คือเด็กที่เติบโตมากับเทคโนโลยีมาก่อน แตกต่างจากคุณพ่อคุณแม่ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่คุ้นชินกับการที่เด็กมีมือถือใช้ ถือเป็นหน้าที่อีกประการ ที่ Garena Academy ต้องให้ความรู้ ให้มองเห็นความสำคัญของอาชีพเหล่านี้”

เกมสนุก ลุ้นมันส์ เพื่อบรรลุฝันเป็นจริง

วันที่ 21-23 มกราคมนี้ มหกรรม META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE จะอุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการ ไฮไลท์ของงานไม่เพียงอยู่ที่การแข่งอีสปอร์ตเกม RoV และ Free Fire ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้สมัครทั่วประเทศ อย่างที่ ดร.ศรุต เล่าว่า ถึงขั้นต้องเพิ่มโควต้าเพื่อรองรับผู้เข้าแข่งขันที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะมีผู้ลงทะเบียนเยอะกว่าที่คิด

สาเหตุที่ผู้คนสนใจมากขนาดนี้ ดร.ศรุต มองว่า น่าจะเพราะ RoV และ Free Fire คือเกมยอดนิยมที่เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบ สามารถเข้าถึงง่าย และเมื่อทุกคนเล่นได้ ก็ทำให้อยากทดสอบฝีมือตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้จากการเล่นเกมอื่นๆ 

“ทั้ง 2 เกมไม่ใช่เกมที่ต้องเติมเงินซื้อของเยอะๆ เพื่อเก่งขึ้น แต่เป็นเกมที่วัดกันด้วยฝีมือ ใช้ทีมเวิร์กในการเล่น ต้องวางแผนกลยุทธ์ และสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม และเมื่อเกมใช้เวลาเล่นแค่ประมาณ 10-20 นาทีเท่านั้น ผู้เล่นจึงต้องเล่นสุดความสามารถ ผิดพลาดไม่ได้ ไม่เหมือนเกมอื่นๆ ที่ยิ่งเติมเงิน ยิ่งซื้อไอเท่มก็ยิ่งเก่ง ยิ่งได้เปรียบ”

นอกจากการแข่งขันอันตื่นเต้นลุ้นระทึก งาน META THAILAND 2022 ยังมี Talk Session ที่นำผู้คร่ำหวอดในวงการเกม ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตระดับโปรเพลย์เยอร์ โค้ช และผู้จัดการทีม มาร่วมแชร์ประสบการณ์อันล้ำค่าให้ได้ฟังกันอย่างเจาะลึก 

ไม่เพียงแค่นั้น ดร.ศรุต ยังแย้มอีกว่า งานนี้ Garena มอบหมายให้ วสุ สุนทรกิติ Head of Production เป็นตัวแทนของ Garena มาร่วมสนทนา และให้ข้อมูลอย่างละเอียดด้วยว่า หากมุ่งมั่นอยากเข้าสู่แวดวงอีสปอร์ตจริงจัง ต้องเตรียมตัวอย่างไร และทุกคนจะมีส่วนช่วยผลักดันให้แวดวงอีสปอร์ตไทยขึ้นเป็นผู้นำในระดับโลกได้อย่างไรบ้าง เป็นหนึ่งในช่วงสนทนาที่ห้ามพลาดเด็ดขาด!

META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE จะจัดขึ้นวันที่ 21-23 มกราคมนี้ เตรียมเต็มอิ่มไปกับสาระความรู้สุดเอ็กซ์คลูซีฟจากกูรูด้านเกม และเทคโนโลยีจากทั่วประเทศได้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/metathailand2022/