depa หวังพาเกมไทยสู่เวทีโลก กับภารกิจผลักดันเกมที่ใช่ ไม่ให้เกมโอเวอร์ตั้งแต่ด่านแรก! – มติชน

กว่าอีสปอร์ตจะได้รับการยอมรับในไทย ทุกคนในวงการไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนต้องเดินหน้าฟันฝ่าอุปสรรคอย่างยาวนาน ซึ่ง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” (depa) คือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันในการวางรากฐานให้ผลงานของคนไทย แปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินหลายร้อยล้านบาทหลั่งไหลเข้าประเทศ 

แม้ทุกวันนี้ แวดวงเกมและอีสปอร์ตจะเติบโตขึ้นมาก แต่งานใหญ่ยังไม่จบ ในมุมมองของ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า หากคิดจะผลักดันแวดวงเกมเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ หลายอย่างต้องสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแค่สร้างคน แต่ต้องสร้างเกมที่เชิดหน้าชูตาในเวทีโลกให้จงได้!

ด่านที่ 1: ตั้งเป้า 3 ปี พัฒนา “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ในงานเสวนา “ศักยภาพ ESPORTS ไทย สู่สากล วิถีชีวิตยุคดิจิทัล” ที่อาคารมติชน ดร.ณัฐพลร่วมเสวนาในหัวข้อ “ESPORTS โอกาสใหม่แห่งยุคดิจิทัล” และให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกสามารถทำเงินถึง 34,000 ล้านบาท และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ดร.ณัฐพลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดีป้ากำลังผลักดันโครงการฝึกทักษะด้านอีสปอร์ตแก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่สนใจ แต่อาจยังไม่เข้าใจภาพรวมของแวดวงนี้มากพอ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 จะมีผู้เข้าร่วมกว่า 80,000 คน 

“แต่อีสปอร์ตไม่ได้มีแค่นักกีฬา เราต้องการใช้เวทีนี้เชิญชวนผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ มาให้ความรู้ ทั้งฝั่งสปอนเซอร์ นักพัฒนาเกม ผู้จัดการแข่งขัน รวมถึงสถาบันการศึกษา เราต้องการความเห็นจากอินฟลูเอนเซอร์ด้านเกม มาร่วมวางโรดแมปร่วมกันว่า จะสามารถช่วยบ่มเพาะแวดวงอีสปอร์ตอย่างไรได้บ้าง

“จากจำนวนนี้ หากมีเยาวชนสัก 2,000 คน ที่สนใจด้านนี้จริงๆ ก็ถือเป็นทรัพยากรที่ช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมได้ไม่น้อย ส่วนใครที่ไม่ได้อยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต เราก็จะช่วยยกระดับทักษะดิจิทัลด้านต่างๆ เช่น ต้องรู้เรื่องเทคโนโลยี และการทำคอนเทนต์ยุคดิจิทัล ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภายหน้า”

ผอ.ดีป้าวางเป้าว่า อีก 3 ปีนับจากนี้ หากแวดวงอีสปอร์ตไทยพัฒนาไปอย่างเป็นระบบ จะสร้างมูลค่าได้สูงถึง 2,000 ล้านบาท แล้วเมื่อนั้นความสำเร็จจากซอฟต์พาวเวอร์จะตามมาเอง

ด่านที่ 2: สร้างเกมไทยส่งออก ขายได้ เล่นดี ไม่มีเบื่อ

การมีเกมของประเทศไทยที่ดังไกลในระดับโลก เป็นอีกเป้าหมายที่ดีป้าอยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพลถอดบทเรียนแล้วพบว่า เกมไทยอาจยังขาดการสร้าง “สตอรี่” ในเกมที่น่าติดตาม ชวนให้เล่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ถึงแม้ตัวเกมจะน่าสนใจ แต่ไม่สามารถยืนระยะยาวได้

“เกมรุ่นเก่าอย่าง Mario Bros. จะมีหลายด่านให้เลือกเล่น เกมรุ่นใหม่อย่าง RoV เช่นกัน แต่เกมของไทยเอง ส่วนใหญ่จะเล่นจบตั้งแต่ด่านแรก ไม่มีด่านอื่นๆ ตามมา เมื่อไม่กี่ปีก่อนเคยมีเกมแนวแฟนตาซีเกี่ยวกับเปรตที่ดังมากในอเมริกา ฝรั่งตกใจกันมาก เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าเปรตคืออะไร

“แต่เล่นกันไม่นาน สุดท้ายคนก็เบื่อ เพราะเปรตจะชนะเสมอ แล้วไม่มีการพัฒนาไปสู่ด่านใหม่ๆ พอดังแป๊บเดียวก็หายไปเลย เป็นอีกกรณีศึกษาว่าเราไม่ได้พัฒนาคอนเทนต์และสร้างสตอรี่ให้น่าติดตาม ชวนให้อยากเล่นไม่มีเบื่อ”

 ดร.ณัฐพลขยายความว่า การพัฒนาสตอรี่ให้น่าติดตาม หมายถึง เกมที่สร้างต้องมีคนเล่นเยอะ ได้รับความนิยมแพร่หลายในวงกว้าง และถ้าน่าสนใจมากพอ ก็อาจกลายเป็นเกมสำหรับแข่งขันอีสปอร์ตได้ หากเกิดเกมแบบนี้มากเท่าไหร่ เม็ดเงินมหาศาลก็จะยิ่งหลั่งไหลมาสู่อุตสาหกรรมเกมไทยตามเป้าที่ตั้งไว้มากขึ้นเท่านั้น 

ด่านที่ 3: แนะลูกหลาน สร้างวินัย เล่นเกมให้ถูกทาง

เมื่อต้องทำงานเกี่ยวกับเกม แม้ ดร.ณัฐพลอาจไม่มีเวลาเล่นเองมากนัก แต่เขาติดตามความเป็นไปของแวดวงนี้เสมอผ่านลูกๆ หลานๆ ในครอบครัว ที่ชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ

“เวลาหลานๆ เล่นเกมที่บ้าน เขาจะเล่นเกมอย่าง RoV, Free Fire หรือ PUBG รวมถึงเกมฟุตบอล เด็กๆ จะเล่นกันเองในกลุ่มเพื่อน และใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยสื่อสารกัน แต่อาจไม่ได้เล่นจริงจังถึงขั้นเล่นอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ”

ดร.ณัฐพลเล่าว่า ที่บ้านมีการตั้งกฎเกณฑ์ร่วมกันกับลูกหลานว่า ถ้ากลับบ้านมาเมื่อไหร่ ให้ทำการบ้านก่อน ถึงจะเล่นเกมได้ และยิ่งทำเสร็จเร็ว ก็ยิ่งมีเวลามากขึ้นเท่านั้น โดยพวกเขาจะคอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ให้ลูกหลานทำตามกติกาที่วางไว้

“เราวางระเบียบไว้ว่าช่วงไหนต้องทำอะไร และคอยเฝ้าดูเป็นบางช่วงไม่ให้เขาออกนอกลู่นอกทาง ถ้าเราฝึกวินัยดีๆ เขาจะเจอลู่ทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่วางกรอบ วางแนวทางให้ เขาจะไม่รู้ว่าเล่นเกมนอกจากเพื่อความสนุกแล้วได้ประโยชน์อะไรอีก”

ดร.ณัฐพลพบว่า ประโยชน์ข้อสำคัญที่เด็กๆ ได้รับจากการเล่นเกมคือการเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปในตัว แม้จะมีบ้างที่ไปรู้คำหยาบมา แต่เขาเอง รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน จะคอยแนะนำอยู่เสมอให้ใช้คำที่สุภาพแทนจะดีกว่า

ด่าน 4: ชวนพ่อแม่เปลี่ยนพลังลบ สร้างพลังบวก 

แม้ทุกวันนี้สังคมจะมองเกมในด้านบวกมากกว่าด้านลบ แต่ ดร.ณัฐพลพบว่า มีผู้ใหญ่อีกไม่น้อยที่ยังมอง “เด็กติดเกม” เป็นปัญหา หากต้องการเห็นวงการนี้เติบโต พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติอย่างรวดเร็ว และสำรวจตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยหรือไม่

“เด็กไทยเข้าถึงเกมได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน แต่มันเกิดจากฝีมือของเด็กหรือของเราเอง? เด็กเป็นคนซื้อโทรศัพท์ราคาหมายหมื่นบาทเพื่อเล่นเกมเอง หรือผู้ปกครองซื้อให้? แล้วพอซื้อให้ ได้สอนการใช้งานที่ถูกต้อง ถูกจังหวะ ถูกเวลา หรือไม่?

“แต่ถ้าเรามีหน้าที่แค่ซื้อให้ เติมเงินเติมเกมให้เท่านั้น คำถามคือเป็นความผิดของเด็กเหรอ? พ่อแม่ผู้ปกครองควรต้องมีเวลาให้ครอบครัว ให้คำชี้แนะเด็กๆ ด้วย เพราะสำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลในอนาคต”

กระตุ้นวงการด้วยมหกรรมอีสปอร์ต

ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 23 มกราคม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมจัดงาน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE โดยมีไฮไลท์เด็ดอยู่ที่การแข่งอีสปอร์ต 2 เกมเด่นอย่าง RoV และ Free Fire รอบตัดเชือก หลังแข่งขันรอบคัดเลือกทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ไม่เพียงแค่นั้นยังมี Talk Session ดึงพลพรรคกูรูเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาแชร์มุมมองและประสบการณ์ที่ล้ำค่าอีกมากมาย

ดร.ณัฐพลเชื่อว่า งานนี้จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และช่วยปลุกกระแสอีสปอร์ตให้เติบโตถูกครรลอง นอกจากนี้ ดีป้าจะส่งตัวแทนเข้าร่วมการเสวนาถึง 2 หัวข้อ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต และการสร้างโครงการอบรมบ่มเพาะด้านเกม ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมทุกคนเข้าสู่โลกอนาคตอย่างมั่นคง

“อุตสาหกรรมอีสปอร์ตเป็นอีกมิติที่เราต้องทำความเข้าใจ และต้องเตรียมความพร้อมว่า เราจะช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนได้อย่างไร เมืองไทยต้องมองมิติใหม่ๆ บ้างว่า จะทำอย่างไรให้ลูกหลานเราไม่ถูกจำกัดความคิด ผมเชื่อว่าคนไทยเก่งด้านการสร้างสรรค์ การสร้างคอนเทนต์ ถ้าเราสนับสนุนอย่างถูกต้อง สิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นลบ จะมีประโยชน์แน่นอน” หัวเรือใหญ่ ดีป้า กล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ

งาน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE จัดขึ้นแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 23 มกราคม สามารถรับชมสาระความรู้สุดเอ็กซ์คลูซีฟจากกูรูด้านเกม และเทคโนโลยีจากทั่วประเทศอย่างจุใจได้ ทางเว็บไซต์ http://www.metathailand.io/ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/metathailand2022/