ชวนชม ‘104 ปีจุฬาฯ อยู่ไหนก็คืนเหย้าได้’ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล 20 มี.ค.-24 เม.ย.นี้
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) พร้อมจัดคืนเหย้าออนไลน์ให้จุฬาฯ ทุกวัย ทั่วไทย ทั่วโลก ชวนเปิดประสบการณ์ใหม่ตลอดเดือน ในงาน “104 ปี จุฬาฯ อยู่ไหนก็คืนเหย้าได้” สาระจุใจ บันเทิงคุ้ม อีสปอร์ตครบ สมทบทุนวัคซีนโควิดจุฬาฯ-ใบยา สั่งจองแผ่นเสียงมหาจุฬาลงกรณ์ พลาดไม่ได้ ชมรายการพิเศษวันสถาปนาจุฬาฯ พร้อมกัน 26 มีนาคม 18.00 น. เป็นต้นไป ทางเพจ Chula Alumni และ Chulalongkorn University
ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือวันที่ 26 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากศตวรรษแรก ‘100 ปี นวัตกรรม คิดทำเพื่อสังคม’ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ในปีที่ 104 นี้ต้องยอมรับว่าทั่วโลกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 ระบบการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทยก็เช่นเดียวกัน ต้องปรับการเรียนการสอนกันใหม่ให้นิสิตและคณาจารย์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้าช่วย ส่วนผู้ปฏิบัติงานก็ต้อง Work from home ในขณะเดียวกันเราก็ได้ใช้โอกาสในวิกฤตนี้ขับเคลื่อน Future skill สำคัญสร้างนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพที่เราบ่มเพาะไว้มากมาย ออกช่วยคนไทยป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิดได้อย่างรัดกุมยิ่งขึ้น อย่างเช่น หุ่นยนต์ CU RoboCOVID รถตรวจโควิดพระราชทาน และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชของใบยาไฟโตฟาร์ม บริษัทสตาร์ทอัพจากคณะเภสัชศาสตร์ ที่กำลังเร่งพัฒนาแข่งกับเวลา สู้กับไวรัสที่อาจกลายพันธุ์ในบ้านเราตามที่เราติดตามความคืบหน้ากันอยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้เองเป็นเป้าหมายขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยที่เราพยายามทำมาตลอดในหลายปีนี้ ให้มหาวิทยาลัยได้รับใช้สังคมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนด้วยดีเสมอมาจากพี่ๆ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ซึ่งก็มั่นใจว่าทาง สนจ. เองก็ต้องปรับตัวในสถานการณ์วิกฤตนี้เช่นเดียวกัน
ขอเชิญชวนนิสิตจุฬาฯ ร่วมกิจกรรมคืนเหย้าออนไลน์ในปีนี้ ซึ่งในงานมีกิจกรรมหลายรูปแบบ ที่จะทำให้ทุกท่านได้มีโอกาสร่วมบริจาคเพื่อช่วยให้ประเทศของเรามีแพลตฟอร์มวัคซีนใช้เองในโครงการวัคซีนเพื่อคนไทยของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ที่กำลังรวมกำลังกันจากหลายภาคส่วนเป็นทีมไทยแลนด์และอยู่ระหว่างการปรับ Facility พัฒนาวัคซีนสานฝันคนไทยให้มีแพลตฟอร์มวัคซีนใช้เองจากฝีมือคนไทย 100% คาดว่าพร้อมทดสอบในมนุษย์ช่วงกลางปี และพร้อมใช้งาน ได้จริงอย่างเร็วที่สุดตามแผนคือปลายปี 2564
‘104 ปี จุฬาฯ อยู่ไหนก็คืนเหย้าได้’
คุณวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) กล่าวว่า ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเราที่จะจัดงานคืนเหย้าในวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เพื่อให้ชาวจุฬาฯได้กลับมาพบปะหวนระลึกถึงวันชื่นคืนสุขเมื่อครั้งยังเยาว์วัย กลับมาดูความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันเติมต่อ ขับเคลื่อน และสนับสนุนมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา มาถึงปีที่แล้วเราจำเป็นต้องงดเว้นไป แต่เมื่อวิถีใหม่มาถึง งานคืนเหย้าของพวกเราในครั้งนี้จึงได้เปลี่ยนโฉมไปจากเดิมมากโดยใช้แนวคิดคืนเหย้าชาวจุฬาฯ 104 ปี วิถีใหม่ ภายใต้ชื่องาน “104 ปี จุฬาฯ อยู่ไหนก็คืนเหย้าได้”
กิจกรรมในปีนี้ยังคงน่าตื่นตาตื่นใจและหลากหลายยิ่งกว่าเดิม ซึ่งในปีนี้เราจะมาชวนกันบริจาคเงินสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในโครงการวัคซีนเพื่อคนไทย โดยมูลนิธิซียูเอ็นเทอไพรส์หลากหลายรูปแบบกันนะครับ อย่างเช่น CU Tube Charity Concert การแข่งขันอีสปอร์ต RoV-Chula Alumni Charity Tournament 2021 และยังมี Chula Alumni Talk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจดี ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้รายการ CU Tube ของเรายังจับมือกับ CU Band ผลิตรายการตอนพิเศษรียูเนี่ยนรวมเหล่านักร้องนักดนตรี 5 เจนเนอเรชั่น หมุนเวียนขับกล่อมชาวจามจุรีกันอย่างจุใจตลอดทั้งเดือน
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้นำแผ่นเสียงชุด “มหาจุฬาลงกรณ์” ที่เคยจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2510 ในโอกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 50 ปี แห่งการสถาปนา รวมเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพลงประจำมหาวิทยาลัย 12 บทเพลง บรรเลงโดยวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ นำกลับมาทำใหม่อีกครั้ง ปรับแต่งเสียงให้สมบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสจุฬาฯ ครบ 104 ปี ในครั้งนี้ เพื่อให้น้องพี่ชาวจุฬาฯ ได้ซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึก มี 600 แผ่น ราคาแผ่นละ 2,200 บาท สั่งจองได้วันนี้เป็นต้นไป เพียงสแกนที่ QR Code หรือติดตามได้ที่เพจ Chula Alumni
สาระจุใจ บันเทิงคุ้ม อีสปอร์ตครบ
คุณอธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร ประธานฝ่ายดำเนินรายการดิจิทัลและบันทึกเทป คุณประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย รองประธานฝ่ายต่างประเทศ และ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานกรรมการจัดกิจกรรมอีสปอร์ต 2564 เผยว่าคณะกรรมการดำเนินงาน “104 ปี จุฬาฯ อยู่ไหนก็คืนเหย้าได้” มีมติจัดงานในรูปแบบใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้สอดคล้องกับการเว้นระยะห่างทางสังคม ห่างกันแต่กาย หัวใจยังผูกพัน จุฬาฯ ปีนี้จึงมีกิจกรรมหลากหลายเปิดกว้างให้นิสิตจุฬาฯ ทั่วไทย ทั่วโลก ทุกเจนเนอเรชั่นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้เต็มอิ่มตลอดเดือน ติดตามรับชมและมีส่วนรวมได้ทุกกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านเพจ Chula Alumni และ Chulalongkorn University อาทิ
วันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายการพิเศษชมสดในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป เตรียมพบกับเพลงเดินจุฬาฯ เวอร์ชั่น 2021 รวมชาวจุฬาฯ ทั่วไทย ทั่วโลกไว้ด้วยกัน, คอนเสิร์ตการกุศล CU Tube Charity Concert วงดนตรีสากล CU Band และความบันเทิงแบบจัดเต็มมากมาย พลาดไม่ได้กับการแข่งขันอีสปอร์ตแมทช์พิเศษระหว่าง ทีมอีสปอร์ต กฟผ. VS ทีม ปตท. และทีมอีสปอร์ต All Stars
CU Tube Charity Concert คอนเสิร์ตการกุศลจากศิลปินและชาวจุฬาฯ หลากคณะ อาทิ โก้ Mr.Saxman, กิตตินันท์ ชินสำราญ, ดวงพร พงศ์ผาสุก, โน้ต ศรัณย์ คุ้งบรรพต, ดลชัย บุณยะรัตเวช, ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล, นีรนุช ปัทมสูต, รัชทิน ศยามานนท์, อรรถพล ชัยศิริ, วง The TIE เป็นต้น
CU Tube x CU Band เทศกาลดนตรีรียูเนี่ยนจาก CU Band 5 เจนเนอเรชั่น สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันสร้างความบันเทิงต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ วันที่ 23, 30 มีนาคม และวันที่ 6, 13, 20 เมษายน 2564 เวลา 19.30 น. ทางเพจ Chula Alumni และ Chulalongkorn University
Chula Alumni Talk ทอล์กโชว์พิเศษร่วมฟังมุมมองและประสบการณ์ของนักคิด นักล่าฝัน และผู้ให้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อเติมต่ออนาคต 3 หัวข้อที่ห้ามพลาด ได้แก่ #1 ฟังนักคิด : Design Your Own Future มองอนาคตแบบ Futurist” โดย คุณสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ก่อตั้งบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 – 15.30 น. #2 ฟังนักล่าฝัน “Define Your Own Future ตามหาฝัน พัฒนาตนเอง” โดย 1. คุณกฤษดา กฤตยากีรณ (มิค) muvmi.co 2. คุณนิรัติศัย ราษฎร์พิทักษ์ (ไตเติ้ล) Movel Publishing 3. คุณเอด้า จิรไพศาลกุล (เอด้า) taejai.com เทใจดอทคอม ร่วมถ่ายทอดการค้นหาตัวเอง นำไปสู่การเลือกการหาอาชีพและการทำงานที่เหมาะสมกับตนเองและมีความสุขในการทำงาน วันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2564 เวลา 10.00 – 11.30 น. และ #3 ฟังจากปากผู้ให้ทุน “Direct Your Dream Future Paths through Scholarships เตรียมตัวให้พร้อมเมื่อฟ้าเปิด” โดย ผู้แทนหน่วยงานผู้ให้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ และ ผู้ที่เคยได้รับทุน พบกับ 1. ผศ.เบญจวรรณ อุบลศรี ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน(Fulbright) 2. คุณปาณพร สมบัติเปี่ยม ศูนย์นักบริหารระดับสูง สำนักงาน ก.พ. 3. ดร.เจษฎา ศาลาทอง ผู้เคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho) วันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2564 เวลา 13.30 – 15.00 น. สำรองที่นั่งทั้งสามหัวข้อได้ที่ https://forms.gle/PubK4SGT4Azwqcka7 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ห้อง Socialized Amphitheatre ชั้น 2 SAMYAN CO-OP และรับชม live ทางเพจ Chula Alumni และ Chulalongkorn University
“RoV-Chula Alumni Charity Tournament 2021” อีสปอร์ตทัวนาเมนต์การกุศลเนื่องในวันสถาปนาจุฬาฯ ครบ 104 ปี ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จับมือกับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมการแข่งขันขึ้นเพื่อให้กลุ่มนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน รวมถึงผู้ที่สนใจร่วมเล่นและเป็นผู้ให้ด้วยการบริจาคสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา ในโครงการวัคซีนเพื่อคนไทย ชิงรางวัลมูลค่ารวม 200,000 บาท สมัครได้แล้ววันนี้ ถึง 24 มีนาคม 2564 ทางเว็บไซต์ www.chulaalumniesport.com และรับชมการแข่งขันแมตช์พิเศษในคืนวันที่ 26 มีนาคม 2564 20.00 น. เป็นต้นไป คู่แรก ทีมอีสปอร์ต กฟผ. พบ ทีมอีสปอร์ต ปตท. คู่ที่สองแมตช์กระชับมิตรน้องพี่ทีมรวม All Stars และนักกีฬาโปรลีก ทางเพจ Chula Alumni และ Garena RoV Thailand
ESPORTS Talk จากเวทีร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ESPORTS : A New Emerging Lifestyle in Thai Society”
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานกรรมการจัดกิจกรรมอีสปอร์ต 2564 เผยว่า “คณะกรรมการดำเนินงานเล็งเห็นว่ากิจกรรมอีสปอร์ตเป็นกีฬายอดนิยมในยุคปัจจุบันรองรับไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิทัล โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึงมากขึ้นทำให้วงการเกมออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลดีหากนำกิจกรรมที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่มาถ่ายทอดสู่ชาวจุฬาฯ ทุกเจนเนอเรชั่น”
คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “บริษัท Sea (ประเทศไทย) เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค ก่อตั้งเมื่อปี 2522 มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ ประกอบธุรกิจ 3 ด้าน คือ 1) ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำระดับโลก โดยมี ‘การีนาออนไลน์’ เป็นผู้ดูแล ผลักดันวงการอีสปอร์ตในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเกมที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศไทย ได้แก่ RoV (Arena of Valor), Free Fire และ FIFA Online 2) ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชที่มีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ได้แก่ ช้อปปี้ (Shopee) 3) ซีมันนี่ (SeaMoney) เป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเพย์เมนต์ และการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยในปี 2563 มีมูลค่าตลาดราว 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 36% เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น Mass Entertainment ที่ผู้บริโภคสามารถใช้งานผ่านโมบายด์ได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น จุดแข็งที่สำคัญคือมีการีนาเป็นผู้จัดการแข่งขันระดับนานาชาติ และได้เป็นผู้จัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกในประเทศไทยทุกปี การสนับสนุนเส้นทางอาชีพในวงการอีสปอร์ต การจับมือภาครัฐเอกชนนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจัยที่มีส่วนทำให้อีสปอร์ตพัฒนาไปต่อได้อีก คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาที่ต่างต้องเตรียมแผนรองรับพัฒนาคนไปพร้อมกับการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านธุรกิจอีสปอร์ต จะยิ่งช่วยขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมของประเทศและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศได้ในอนาคตอันใกล้”
ฮิวโก้ พงศ์ปณต เรืองอารีรัตน์ ผู้แทนนักกีฬาอีสปอร์ตจุฬาฯ นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งอีสปอร์ตเอเชียนเกมส์ เผยว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจการเล่นเกม เป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ การเล่นเกมต้องมีวินัยแบ่งเวลาเรียนเวลาเล่นให้ถูก วันนี้อีสปอร์ตก้าวไปสู่วงการกีฬาและได้รับการยอมรับให้เป็นกีฬาระดับนานานชาติแล้ว จึงอยากเชิญชวนให้นิสิตเก่าจุฬาฯ นิสิตปัจจุบัน และเพื่อนชาวจุฬาฯ ที่สนใจเข้ามาแข่งขัน RoV -Chula Alumni Charity Tournament 2021 และติดตามการแข่งขันได้ทาง เพจ Chula Alumni และ Garena RoV Thailand”
ปาร์ค ภาณุภัทร อโนมกิติ ศิลปินนักแสดง MVP, RoV All Star Battle นิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เผยว่า “เกมหรืออีสปอร์ตเป็นคอนเท้นต์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัย จึงใช้เป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ได้ดี ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป การจัดกิจกรรมคืนเหย้าออนไลน์วิถีใหม่ครั้งนี้ตอบโจทย์ และจะยิ่งเปิดโอกาสให้คน Gen X, Gen Y และ Gen Z ในสังคมไทยได้พบปะและทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น”