สทน. นำนิวเคลียร์ตรวจโครงสร้างใต้ทะเลแท่นขุดน้ำมัน คาดเริ่มบริการภาคเอกชนกลางปี 66 – ผู้จัดการออนไลน์

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.เปิดเผยว่า จากการวิจัยและพัฒนาของ สทน. ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในกิจการหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการเกษตร ด้านการแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านอุตสาหกรรม ก่อประโยชน์กับประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และที่สำคัญคือทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทย ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เช่น “การตรวจสอบโดยไม่ทำลาย” โดยศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน. ซึ่งเป็นการใช้รังสีในการตรวจสอบสภาพ เพื่อดูสภาพความสมบูรณ์ หรือความบกพร่องภายในของชิ้นงาน โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นงาน 



สำหรับ การตรวจสอบวิเคราะห์หอกลั่นโดยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ เป็นการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครงสร้างภายในหอกลั่นและสภาวะการผลิตภายในหอกลั่น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความสมบูรณ์ตามวงรอบเวลาอย่างต่อเนื่อง ในอดีตการดำเนินงานเหล่านี้ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบทั้งหมด แต่หลังจากที่ สทน. พัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้สำเร็จ สทน. สามารถเข้าไปให้บริการตรวจสอบหอกลั่นได้เกือบทั้งหมด จนถึงปัจจุบันคาดว่า สทน. มีส่วนแบ่งการตลาดจากการให้บริการตรวจสอบหอกลั่นประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปีสามารถประหยัดเงินตราจากการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

ดร.ธนรรจน์ แสงจันทร์

ดร.ธนรรจน์ แสงจันทร์ ผู้จัดการศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง เป็นเทคโนโลยีที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีอัตราค่าบริการตรวจวิเคราะห์สูง ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน. ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ขยายบริการการตรวจสอบดังกล่าวแก่ภาคเอกชน โดยได้คิดค้นและพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบซึ่งใช้หลักการส่งผ่านรังสีเข้าไปยังตัวกลางและบันทึกค่าความเข้มรังสีหลังจากผ่านตัวกลาง (Gamma Transmission Technique) เพื่อใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างที่อยู่ใต้ทะเลว่ามีน้ำรั่วซึมเข้าไปหรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวโครงสร้าง



ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนและตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการ ในเบื้องต้นได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปทดสอบกับตัวโครงสร้างที่ยื่นออกไปในทะเลคล้ายกับโครงสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของ ปตท.และสามารถแยกได้ว่าโครงสร้างดังกล่าวนั้นมีน้ำเข้า หรือมีรอยรั่ว ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างหรือไม่ ในขั้นต่อไปจะร่วมมือกับภาคเอกชนนำอุปกรณ์ตรวจสอบไปติดตั้งกับยานพาหนะใต้น้ำที่ควบคุมจากระยะไกล (REMOTELY OPERATED UNDERWATER VEHICLE : RoV) เพื่อลงไปตรวจสอบโครงสร้างที่อยู่ใต้ทะเลลึก คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ภาคเอกชนอย่างเป็นทางการได้ในช่วงกลางปี 2566