IT Digest : ความสำเร็จของทีม MiTH GlamoRousCrazy มีอะไรบ้าง
ชนิกนันท์ : ก่อนไปแข่ง PB International Championship 2011 ทีม MiTH เป็นแชมป์ประเทศไทยจากเวที PB Thailand Tournament 2010 ซึ่งจัดแข่งขันเป็นประจำทุกปี เพื่อหาผู้ชนะระดับประเทศ โดยประเทศไทยจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ส่วนการแข่งขันในระดับนานาชาติ ทีม MiTH ต้องแข่งขันกับอีก 5 ประเทศ ได้แก่ รัฐเซีย อินโดนีเซีย บราซิล ตุรกี และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นเจ้าภาพ โดยมีทีมจากรัฐเซียและอินโดนิเซียเป็นตัวเต็งของการแข่งขัน แม้จะโดนสบประมาทจากบางทีม แต่น้องๆ ก็ทำได้ดีมาก และสร้างความฮือฮาให้ประเทศเจ้าภาพค่อนข้างมาก
IT Digest : รายละเอียดของเกม Point Blank
ชนิกนันท์ : Point Blank เป็นเกมแนวยิง (Shooting) ที่ถูกจัดให้เป็นเกมประเภท E-Sport เช่นเดียวกับ Counter Strike , Sudden Attack และ Special Forces ฯลฯ Point Blank มีรูปแบบการเล่นเป็นทีม ต้องใช้ทักษะการวางแผนและการยิง โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือตำรวจและโจร แต่ละฝ่ายจะปฏิบัติภารกิจของตนเอง ซึ่งลักษณะการเล่นดังกล่าวสามารถแข่งขันได้อย่างชัดเจน ส่วนการจำแนกเกมให้เป็น E-Sport นั้น ผู้ให้บริการเกมจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเปิดบริการรูปแบบใดและจะจัดแข่งขันในรูปแบบ E-Sport หรือไม่ แต่เกมแนวยิงส่วนใหญ่นั้นจะมีการจัดแข่งขันอยู่แล้ว
IT Digest : ในประเทศไทยมีเกม E-Sport มาก-น้อยแค่ไหน
ชนิกนันท์ : ก็มีหลากหลาย มีทั้งเกมแนวยิง อย่าง Point Blank , Counter Strike , Sudden Attack และ Special Forces เกมกีฬา เช่น FIFA Online หรือเกมแนววางแผนที่เล่นเป็นทีม เช่น Dota , StarCraft II รวมแล้วอาจอยู่ที่ 10 เกม ที่สามารถเรียกว่าเป็น E-Sport ได้เต็มปากเพราะมีจัดแข่งขันต่อเนื่องแทบทุกสัปดาห์
IT Digest : การปฏิบัติตัวของนักกีฬา E-Sport ต้องทำอย่างไร
ชนิกนันท์ : ไม่ว่าประเทศไนก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเรื่องวินัย นักกีฬา E-Sport ต้องฝึกซ้อมเหมือนนักกีฬาจริง แม้จะอยู่ในวัยเรียนแต่น้องๆ ก็ต้องแบ่งเวลามาฝึกฝนสม่ำเสมอ ต้องประชุมวางแผนการเล่นและการฝึกซ้อม โดยมีผู้จัดการทีมคอยให้คำแนะนำ ขณะที่เกมเมอร์มืออาชีพในต่างประเทศจะฝึกซ้อมอย่างหนักเกือบทั้งวัน
IT Digest : จากที่ได้ไปแข่งขันเวทีนานาชาติ เห็นความแตกต่างของนักกีฬา E-Sport ไทยและต่างประเทศอย่างไร
ชนิกนันท์ : ช่วงนี้ถือว่าดีขึ้นมากจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเติบโตของตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) จากโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ทำให้เด็กๆ ได้เห็นตัวอย่างและเข้าถึงข่าวสาร อาจทำให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้นว่าบางคนเล่นเกมด้วยวัตถุประสงค์อะไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่านักกีฬา E-Sport ในไทยยังไม่ค่อยเป็นระบบเท่าที่ควร แต่เรียกว่ามีแนวโน้มที่ดี แม้จะยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบจริงๆ และไม่ได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่จากภาครัฐ
กีฬา E-Sport ของไทยจะยังไม่ได้รับความนิยมหรือมีค่าตัวเหมือนต่างประเทศที่มีการซื้อตัวเข้าทีมเหมือนนักกีฬาอาชีพทั่วไป เชื่อหรือไม่ว่านักกีฬา E-Sport ของเกาหลีบางคนย้ายทีมด้วยค่าตัว 30 ล้านบาท ในต่างประเทศโดยเฉพาะเกาหลี คนที่เล่นเกมเก่งก็เหมือนดารา เรียกว่าไปที่ไหนก็มีแฟนคลับคอยตามกรี๊ด ส่วนเรื่องรายได้คงไม่ต้องพูดถึง เพราะ E-Sport กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลัก
“เข้าใจว่า E-Sport ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการยอมรับเพราะผูกอยู่กับเกม ยังไงเกมก็ยังถูกมองในแง่ลบ เวลามีข่าวไม่ดี เกมก็ถูกโทษว่าเป็นต้นเหตุ แต่ต่างประเทศเขามีการสนับสนุนอย่างจริงจัง มีการให้เงินเพื่อพัฒนาวงการเกมอย่างจริงจัง ซึ่งมันสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้”
IT Digest : จะแนะนำอย่างไรกับเด็กไทยที่ทุ่มเทกับการเล่นเกม แต่ไม่เคยนำความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ชนิกนันท์ : ถ้าเห็นตัวอย่างที่ดีแล้วอยากจะเป็นแบบนั้น ก็ต้องฝึกซ้อมให้เต็มที่ ต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเราเล่นเพื่ออะไร แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการแบ่งเวลา หลายคนที่เล่นจนไม่แบ่งเวลาก็ได้ดีแค่เรื่องเกม อยากให้คิดใหม่เพราะเรายังอยู่ในประเทศไทยไม่ใช่เกาหลี เราต้องเรียนจบและทำงาน เพราะอาชีพเกมเมอร์ยังไม่มั่นคงและยังเป็นอาชีพหลักไม่ได้