เปิดตัว 'อี-สปอร์ต' กีฬาสาธิต ในศึก 'เอเชี่ยนเกมส์'

จัดขึ้นต่อเนื่องเป็น ครั้งที่ 18 ปีนี้เปิดฉากขึ้นที่กรุงจาการ์ตาและเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย มีตัวเเทนนักกีฬาจากทั่วเอเชียเข้าร่วมชิงชัย

การเเข่งขันในเอเชี่ยนเกมส์ 2018 จะประกอบด้วยกีฬากว่า 40 ชนิดกีฬา พร้อมด้วยกีฬาสาธิตอีก 2 ชนิดกีฬา คือ อี-สปอร์ต (E-Sport) และ คาโน-โปโล (Canoe-Polo)

การประกาศให้อี-สปอร์ตเข้าเป็นกีฬาสาธิตในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนโลกของ เกมŽ ในประเทศไทยสู่การเเข่งขันกีฬาระดับโลก ตอกย้ำด้วยการประกาศรับรองอี-สปอร์ต เป็นสมาคมกีฬาอี-สปอร์ตแห่งประเทศไทย โดย การกีฬาแห่งประเทศไทยไทย (กกท.) เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้อี-สปอร์ต ก้าวเข้าสู่การเป็นกีฬาอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ

ล่าสุด รองตูนŽ นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เผยว่า หลังจาก กกท.ได้รับลอง สมาคมกีฬาอี-สปอร์ตแห่งประเทศไทย ไปเป็นที่เรียบร้อย ทำให้อี-สปอร์ตกลายเป็นกีฬา และสามารถส่งเข้าร่วมการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ได้ ตามที่สหพันธ์อี-สปอร์ตนานาชาติกำหนดไว้ว่าต้องให้องค์กรกีฬารับรอง ขึ้นทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาจึงจะสามารถส่งเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาคมกีฬา อี-สปอร์ต ยังไม่ได้สร้างกฎกติกาออกมาให้ชัดเจน เพื่อเป็นการตีกรอบกำหนดตามที่สหพันธ์กำหนดไว้ อาทิ เกมชนิดใดถือเป็น อี-สปอร์ต เป็นต้น เพื่อเป็นการแยกกลุ่มเด็กติดเกมออกจากการเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต ให้ชัดเจน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอี-สปอร์ตด้วยŽ

รองผู้ว่าการ กกท.กล่าวว่า เชื่อว่าหากมีกฎระเบียบออกมาชัดเจน สร้างความเข้าใจให้กับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่เข้าใจอี-สปอร์ตและยังมองว่าอี-สปอร์ตเป็นเพียงเด็กติดเกมได้ กลุ่มนักกีฬาอี-สปอร์ตที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ก็พร้อมจะก้าวขึ้นมาสู่การเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และเยาวชนแห่งชาติ กีฬาอี-สปอร์ตอาจจะถูกบรรจุลงไปในการแข่งขันด้วยก็เป็นได้

นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอี-สปอร์ตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อี-สปอร์ตสำหรับเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้เป็นกีฬาสาธิตมีทั้งหมด 6 ประเภทเกม ได้แก่ เกม League of Legend, เกม Pro Evolution Soccer 2018, เกม Clash Royale, เกม RoV หรือ Arena of Valor, เกม StarCraft II และ เกม Hearthstone 3 เกมแรกนั้นเราไม่ผ่านการคัดเลือกโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนอีก 3 เกมหลังเราได้ไปจาการ์ตา และส่งนักกีฬาดังนี้ เกม RoV มีนักกีฬา 6 คน โค้ช 1 คน เกม StarCraft II กับเกม Hearthstone เป็นประเภทเดี่ยว เท่ากับเรามีนักกีฬาไปจาการ์ตารวม 8 คน

ที่ผ่านมาก็มีทั้งซ้อมและให้สมัครแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับย่อยตลอด มีการไปตรวจสุขภาพที่ กกท. และได้รับการรับรองคณะแพทย์ของ กกท.ว่าเข้าร่วมการแข่งขันได้ เราดูแล้วเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นเด็กติดเกมเพราะเป็นมืออาชีพกันหมด เพราะเขาแข่งกันมาเป็นปีๆ และขึ้นเวทีกันอยู่ต่อเนื่อง มีทีมคอสตูมคอยดูแลŽ

นายสันติบอกอีกว่า สำหรับนักกีฬาที่จะเดินทางไปชุดแรก เป็นทีม RoV เดินทางวันที่ 24 สิงหาคมนี้ และวันที่ 25 สิงหาคม ประชุมทีม ส่วนวันที่ 26 สิงหาคม จะเป็นการแข่งขัน ประมาณ 3 ทุ่ม เราก็จะรู้ว่าใครเป็นแชมป์ของเกมประเภทนี้ สำหรับวันที่ 29 สิงหาคม จะเป็นการแข่ง StarCraft II ตั้งแต่ช่วงบ่ายยัน 3 ทุ่ม น่าจะได้รู้ผลช่วงนั้นว่าใครที่จะเป็นแชมป์ และสุดท้ายวันที่ 30 แข่ง Hearthstone วันเดียวเหมือนกัน เท่ากับวันที่มีไทยแข่งคือ 26, 29 และ 30 สิงหาคม รวม 3 วัน

ส่วนเรื่องความตื่นตัวของคนไทย อาจจะมีเยอะกว่านี้ ขออธิบายให้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มนักกีฬาอี-สปอร์ต กลุ่มนักกีฬาอี-สปอร์ตด้วยกัน เขาก็ยังสงสัยว่าการเป็นทีมชาติ นอกจากได้สวัสดิการ ได้ใช้คำว่าเป็นทีมชาติ ได้ใส่เสื้อโอลิมปิก มันมีอะไรอีกบ้าง เราก็ทำการชี้แจงเพิ่มความรู้ให้กลุ่มนี้ เพราะตอนนี้นักกีฬาเราไม่มีวันหยุดเลย กลางวันให้สัมภาษณ์สื่อ 4-5 ชั่วโมง ตกเย็นก็ต้องเก็บตัวซ้อมและเข้านอน เป็นแบบนี้ทุกวัน สุดท้ายแล้วเมื่อมีชื่อเสียง อาจมีสปอนเซอร์เข้ามา หรือไปเป็นนายแบบ ก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมเป็นคนของสังคมŽ

อีกกลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มนี้เขายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับทีมชาติ เพราะว่าไม่ได้ไปสร้างมูลค่าให้กับเขา เเต่เขาก็ใช้โอกาสที่เริ่มตื่นตัวจัดแข่งกันเอง สมาคมไม่ได้เข้าไปเกี่ยวเพราะไม่ได้มีข้อกฎหมายไปห้ามเขาจัดแต่ในอนาคตยังไม่รู้ อาจจะมีก็ได้ อย่างเช่น ถ้าจะจัดแข่งก็ต้องส่งเรื่องเข้า กกท. ก่อนว่ารับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร เพราะเวลาเราจัดแข่งขันเรามีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับเยาวชน และก็มีความร่วมมือระหว่าง สมาคม กกท. สำนักงานสุขภาพแห่งชาติŽ

ยังมี กลุ่มสถานศึกษา ซึ่งมีความตื่นตัวมาก บางมหาวิทยาลัยติดต่อมายังสมาคม เพื่อเชิญเราไปบรรรยาย ส่วนการจัดการเเข่งขันของมหาวิทยาลัยต้องทำข้อตกลงก่อนทั้ง ผลสุขภาพ ความประพฤติ ผลการเรียนหรือเกรด มี 3 อย่างนี้เป็นเกณฑ์หลักในการที่เด็กจะเข้าแข่ง สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเป็นตัวหนึ่งที่มาเร่งรัดให้สมาคมต้องรีบทำบางอย่างขึ้นมา นั่นคืออบรมสัมมนาเชิงให้ความรู้แก่ อธิการบดี คณบดี นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าอี-สปอร์ตในมุมของ กกท.มันเป็นอย่างไร ต่างจากธุรกิจอินเตอร์เน็ตคาเฟ่หรือผู้ให้บริการเกมในประเทศไทยอย่างไร อีกไม่นานสมาคมจะมีการจัดสัมนาในภาพรวมโดยเชิญมหาวิทยาลัยมาฟังเราในจังหวัดต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ สุพรรณบุรี พัทยา และ กทม. คาดว่าจะได้จัดเร็วๆ นี้Ž

สำหรับนิยามของอี-สปอร์ตนั้น นายสันติมองว่า อี-สปอร์ต คือ การเอาเกมหรือซอฟต์แวร์เกมมาเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน เพื่อวัดดูว่ามนุษย์คนไหนเก่งกว่ากัน เมื่อแข่งกันไปเรื่อยๆ จนรูปแบบการแข่งขันเป็นทางการมากขึ้น แฟร์เกมมากขึ้น มีธุรกิจเติบโตต่อยอดในเชิงนวัตกรรมมากขึ้น ไม่ใช่แค่เล่นไปวันๆ แบบเมื่อก่อนแล้ว มันเลยมีมูลค่าต้องใช้คำว่า เติมแต่งให้มันดูยิ่งใหญ่ ให้มันแพงขึ้น รักษาคุณภาพมาตรฐาน ไม่ใช่เหลวไหลไปวันๆ เพราะนักกีฬาเหล่านี้มีสัญญาอยู่ เช่น ห้ามไปเที่ยวแหล่งอโคจร แหล่งอบายมุข ก็เหมือนกับนักฟุตบอลอาชีพ ที่ไปเที่ยวผับเเล้วถูกสโมสรแบนก็มี ซึ่งอี-สปอร์ตระดับมืออาชีพในโลกเขาก็แบนเหมือนกันเพราะมีข้อห้ามอยู่ อย่างเราเชิญทีมใหญ่ๆ ระดับโลกมา เขาก็มีให้เซ็นข้อตกลงเลยว่าห้ามพานักกีฬาเขาไปเที่ยวแหล่งอโคจร ถ้าจะนิยามได้ว่าอี-สปอร์ตมันเริ่มขยับเข้าไปตรงนั้นŽ

นายสันติกล่าวอีกว่า สำหรับการเเข่งขันในวงการอี-สปอร์ตจะมีคนก็ดูมากถึง 3 ร้อยกว่าล้านวิวต่อปี ซึ่งยอดวิวก็มีมูลค่าในเชิงการค้าในการตลาด แทนที่จะเป็นแค่นวัตกรรมต่อยอดก็เลยกลายเป็นธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง

“ประกอบกับกฎกติกา กฎระเบียบต่างๆ ที่เริ่มเข้มงวดขึ้นก็เลยถูกจับตามองเป็นพิเศษ แม้กระทั่งโอลิมปิกเองอี-สปอร์ตก็โตเต็มที่แล้ว เเละโอลิมปิกก็เริ่มขยับเรื่องพวกนี้อยู่ปีนี้มีการประชุมเรื่องอี-สปอร์ตไปทั้งหมด 8 ครั้ง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีŽ” นายสันติทิ้งทาย