“Scarlett” : นักกีฬาอีสปอร์ตหญิง(ข้ามเพศ)ที่ทำเงินได้มากที่สุดในโลก – Sanook

อาจด้วยเหตุผลทางค่านิยมและวัฒนธรรม วงการเกมคือวงการที่ชายเป็นใหญ่ หลายเกมถูกออกแบบมาเอาใจเด็กชายมากกว่า มีตัวละครผู้ชายเยอะกว่า ความนิยมเล่นเกมในหมู่เพื่อนผู้ชายก็มากกว่า จนเราต้องตั้งคำถามกันอยู่บ่อยๆว่าเพศเกี่ยวอะไรกับเกม?

หลายคนมีคำตอบในใจสำหรับคำถามนี้ แต่มีบุคคลหนึ่ง ที่แสดงให้โลกเห็นว่า ฝีมือการเล่นเกม ไม่เกี่ยวกับเพศ ไม่เกี่ยวกับชาติพันธ์ุ ไม่เกี่ยวกับอะไรที่เป็นเปลือกนอกเลย

เธอคนนั้นคือ ซาช่า โฮสติน หรือที่รู้จักกันในนาม “Scarlett” โปรเพลเยอร์หญิง (ข้ามเพศ) ชาวแคนาดา แชมป์การแข่งขัน StarCraft II รายการ “IEM PyeongChang 2018 pre Winter Olympic”

เธอคือโปรเพลเยอร์หญิงที่ทำเงินได้มากที่สุดในโลก แต่ไม่เพียงเท่านั้น โฮสตินยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าแชมป์ของเกม StarCraft II ในระดับเมเจอร์ได้อีกด้วย

ชัยชนะของเธอ สั่นคลอนความเชื่อเก่าๆ เรื่องการผูกขาดตำแหน่งแชมป์กับเพศหรือชาติพันธุ์ เรื่องราวของเธอจะเป็นมายังไง ติดตามชมได้ที่นี่

เริ่มจากลงแข่งแบบไม่จริงจัง

โฮสตินเติบโตในเมืองคิงส์ตัน รัฐออนแทรีโอ เมืองเล็กๆทางตะวันออกของประเทศแคนาดา ในวัยเด็ก เธอมักหมกมุ่นอยู่กับหนังสือการ์ตูนแฟนตาซีและการ์ดเกม Magic: The Gathering 

เธอไม่เคยมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพแต่อย่างใด แต่เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป ในช่วงมัธยมปลายเธอมักจะขลุกอยู่กับการเล่นเกม โดยเกม StarCraft II ที่โฮสตินเล่น เป็นเกมที่เล่นตามพี่ชายและเป็นเพียงกิจกรรมยามว่าง 

แต่พอได้เล่น โฮสตินก็พบว่าเธอสามารถเอาชนะพี่ชายได้อยู่บ่อยๆและพบว่าตัวเองก็มีฝีมือไม่น้อย ทำให้เธอลองลงแข่งทัวร์นาเมนต์ StarCraft II ออนไลน์ แต่ก็ยังไม่ได้จริงจังและเป็นเพียงแค่ความสนุกเท่านั้น 

1

“ฉันเริ่มต้นด้วยการเล่น Ladder (เกมจัดอันดับในโหมด Multiplayer ของ StarCraft II) ก็ดูเหมือนฉันทำได้ดีตั้งแต่ตอนนั้น” โฮสตินย้อนความหลัง

“ฉันจึงลงแข่งรอบคัดเลือกออนไลน์สำหรับทัวร์นาเมนต์ และฉันก็ชนะ นั่นคือจุดเริ่มต้น” 

ในช่วงต้นปี 2011 โปรชาวแคนาดาชนะการแข่งขันออนไลน์ครั้งแรกเมื่ออายุ 17 ปี ในรายการ NESL Iron Lady โดยได้แชมป์ถึง 2 ครั้งภายในปีนั้น และมันคือก้าวสำคัญในชีวิต

ล้มแล้วลุก

ปี 2012 Scarlett เข้าร่วมการแข่งขัน ScarCraft II World Championships Series Canada และกลายเป็นแชมป์ระดับชาติของประเทศแคนาดา จากนั้นเธอก็ไปแข่งขันรายการ WCS North American Championship 2012 ซึ่งก็ชนะอีกครั้ง

2

ด้วยการชนะรางวัลลีกเมเจอร์ของทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ เธอเริ่มทำผลงานจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เมื่อไปถึงจุดที่สูงแล้ว ความคาดหวังของคนที่รู้จักเธอก็มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับผลงานในทัวร์นาเมนต์ต่างๆของเธอในปีถัดมาที่ดูแผ่วไป

ในปี 2014 วอน อี ซัค หรือ “PartinG” อดีตแชมป์โลก StarCraft II เอาชนะโฮสตินในรอบแรกของรายการ Red Bull Battle Grounds ไปอย่างง่ายดาย เขากล่าวกับผู้ชมชาวอเมริกันว่า ในเกมนั้นเขาไม่ตื่นเต้นเลย เพราะเขา “ไม่เคยแพ้คนต่างชาติอยู่แล้ว”

ทางด้านโฮสติน เธอไม่มีข้อแก้ตัวและให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันฝีมือตกกว่าที่เคย ฉันต่อสู้ได้ไม่ดีเท่าเดิม แม้ว่าฉันควรจะชนะ แต่สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ก็ทำให้มันยากขึ้น” 

สี่ปีหลังจากเล่น StarCraft II ในฐานะเกมเมอร์มืออาชีพ เธอได้หยุดเล่นไปในปี 2015 และหันไปให้ความสนใจกับเกม MOBA ชื่อดัง อย่าง Dota 2

“ฉันอยากลองอย่างอื่นบ้าง แล้วฉันก็เคยเล่น Dota 2 มาเยอะแล้ว ดังนั้น ฉันจะฝึกฝนและลองดูว่าจะทำได้ดีหรือเปล่า เพราะฉันเริ่มไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการแข่ง StarCraft II สักเท่าไหร่”

นี่แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่อ่อนแอของโปรสาว หรือเรียกว่าเป็นช่วงขาลงเลยก็ว่าได้ จนทำให้แฟนๆที่รอดูเธอแข่งในเกม StarCraft II ใจสลายไปตามๆกัน เพราะดูเหมือนว่าเธอกำลังจะหมดไฟกับ StarCraft II และอาจอำลาวงการไปในที่สุด

3

แต่จุดที่ทำให้โฮสตินแตกต่างจากคนอื่น คือเธออดทนต่อช่วงขาลงของตัวเองและความพ่ายแพ้นับไม่ถ้วน จากนั้นก็พยายามหนักขึ้น และเด้งกลับมาอย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม 

เพราะหลังจากนั้นไม่นานในปี 2015 โฮสตินกลับมามุ่งมั่นและลงแข่งเกม StarCraft II อีกครั้ง และมันคือการคัมแบ็คครั้งสำคัญ เมื่อเธอสามารถคว้าแชมป์ในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ได้ถึง 3 รายการในช่วงปี 2016-2017 

นอกจากนี้ ในปี 2016 โฮสตินยังได้รับการจารึกชื่อให้เป็นผู้เล่นหญิงที่มีรายได้มากที่สุดในโลก โดย Guinness World Records จากเงินรางวัลกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 6.72 ล้านบาท ในตลอดช่วงอาชีพที่ผ่านมา 

การกลับมาของเธอในครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะความล้มเหลว กลับทำให้เธอทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในเวลาต่อมา..

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่

StarCraft II คือเกมแนวกลยุทธ์ที่เรียกว่า RTS (Real-Time Strategy) ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่ต่อสู้กับเอเลี่ยน ถือเป็นหนึ่งในเกมต้นกำเนิดของกีฬาอีสปอร์ต (eSports) ที่ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้แบบพุ่งกระฉูดตั้งแต่ปี 1998

4

เมื่อมีข่าวว่าโฮสตินกลับมาลงแข่งอีกครั้งและมีเป้าหมายที่จะไปแข่งเกม StarCraft II ถึงที่เกาหลีใต้ แฟนๆหลายคนแสดงความเห็นว่า หากเธอแข่งแพ้ที่เกาหลีใต้ก็ยังไม่แย่เท่าแพ้ที่อเมริกาสักเท่าไหร่

นั่นแปลว่าพวกเขาไม่ได้คาดหวังให้เธอไปล้มแชมป์เกม StarCraft II ที่เหล่าโปรเพลเยอร์ชายสัญชาติเกาหลีใต้ที่ดูจะผูกขาดกับตำแหน่งนี้มาตลอด

ในรายชื่อนักกีฬาอีสปอร์ตที่รายได้รวมสูงสุดตลอดกาล 500 อันดับแรก มีโปรเพลเยอร์เกม StarCraft II ติดอันดับทั้งหมด 33 คน และ 27 คนในนั้นเป็นคนเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น อี เบียง ริล (Lee Byung Ryul) หรือ Rogue ที่รั้งอยู่ในอันดับที่ 110 และ โช ซุง ชู (Cho Sung Choo) หรือ Maru ที่อยู่ในอันดับที่ 112 

สถิตินี้ทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมา โปรชายเกาหลีใต้คือขาใหญ่ของวงการ StarCraft II 

ทว่าในปี 2018 ซาช่า โฮสติน ก็ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการคว้าแชมป์การแข่งขัน StarCraft II รายการ IEM PyeongChang 2018 pre Winter Olympic ที่เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ 

โดยในนัดชิงชนะเลิศ โฮสตินสามารถเอาชนะ คิม โย จิน (Kim Yo Jin) หรือ “sOs” โปรเพลเยอร์เกาหลีใต้ที่เป็นผู้เล่นระดับตำนาน ดีกรีแชมป์โลก 2 สมัย พร้อมกับคว้าเงินรางวัลสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.6 ล้านบาท

นอกจากนี้ มันยังทำให้โฮสตินกลายเป็นผู้เล่นหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์การแข่ง StarCraft ระดับโลกทันที

5

“ตอนนี้ฉันแทบไม่อยากเชื่อเลยจริงๆ เพราะที่ผ่านมา ฉันทำผลงานได้ไม่ค่อยดีในทัวร์นาเมนต์ การชนะครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ฉันไม่ได้คาดคิดมาก่อน” โปรสาวชาวแคนาดากล่าวในการสัมภาษณ์หลังเกม 

“ในตอนนั้น ฉันคิดแค่ว่าถ้าฉันเล่นอย่างดุเดือดต่อไป คู่ต่อสู้จะประหม่า และฉันจะชนะจากตรงนั้น”

การชนะครั้งนี้เป็นมากกว่าชัยชนะ เพราะโฮสตินใช้ความพ่ายแพ้ในอดีตเป็นเชื้อเพลิงในการทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งของโลก ทำให้เกมเมอร์ทุกเพศทุกวัยที่จับตามองเธอ เห็นว่าเปลือกนอกไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการเป็นแชมป์

ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จดังกล่าวยังทำให้เธอโด่งดังไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้แชมป์ดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงสัปดาห์ เธอยังกลายเป็นชาวต่างชาติคนแรกนับตั้งแต่ปี 2012 ที่เข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศรายการ Global StarCraft II League หรือ GSL ลีกอีสปอร์ตเกม StarCraft II ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเวทีที่มีแต่ยอดผู้เล่นระดับโลกมารวมกัน อีกทั้งเปรียบเสมือนลีกในประเทศอันดับ 1 ของโลกในเกมนี้เลยทีเดียว

ฝีมือก็คือฝีมือ

ในวงการกีฬาทั่วไป หลายครั้งที่นักกีฬาหญิงข้ามเพศที่เข้าร่วมการแข่งขันในรายการสำหรับเพศหญิงถูกมองอย่างแตกต่าง ถึงขั้นมีคำครหาว่า การอนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งคือเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เพราะด้วยร่างที่เป็นชาย พวกเธอมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่า จึงดูเหมือนถือไพ่เหนือกว่าผู้เข้าแข่งขันเพศหญิงคนอื่นๆ

6

เช่นเดียวกัน ในวงการกีฬาอีสปอร์ต มีผู้คนมากมายมองว่า การที่โฮสตินเป็นหญิงข้ามเพศ หรือ Transgender หมายความว่าเธอมีร่างกายที่เกิดมาเป็นชาย และอาจได้เปรียบทางกายภาพในฐานะมนุษย์ผู้ชาย

ทั้งๆที่อีสปอร์ตคือกีฬาที่ใช้แค่นิ้วและมันสมอง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมวลกล้ามเนื้อเหมือนอย่างกีฬาที่ใช้ร่างกาย ในขณะที่สื่ออย่าง กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด หรือผู้จัดทัวร์นาเมนต์ต่างๆก็ยอมรับว่าเธอคือโปรเพลเยอร์หญิงทั้งสิ้น

ในมุมมองของโปรสาว เธอมักจะโดนถามถึงเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเธอเองมาโดยตลอด โฮสตินตอบเพียงว่าเพศของเธอ “ไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน” กับวิธีการเล่นของเธอ 

“ในเรื่องของฝีมือการเล่นเกม การเป็นหญิงข้ามเพศ หมายความว่าฉันใช้สมองของเพศชายเพียงเท่านั้นเอง ดังนั้น การมีสมองของเพศตรงข้ามไม่ได้ทำให้ฉันได้เปรียบหรือเสียเปรียบ” เธออธิบาย

“ฉันไม่เคยพยายามดึงความสนใจมาที่ตัวเองเพื่อสิ่งอื่นใดนอกจากการเล่นเกม ดังนั้น ฉันจึงไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องใหญ่”

“ฉันเพียงขอให้ผู้คนเคารพฉันในแบบที่ฉันเป็น”

7

โฮสตินเป็นเกมเมอร์ข้ามเพศที่โดดเด่นที่สุดในโลก แต่เธอดูไม่สนใจที่จะเป็นกระบอกเสียงให้ใคร เธอเลือกที่จะโลดแล่นในแบบฉบับของเธอ ด้วยการใช้ฝีมือในการท้าทายความเชื่อเก่าๆที่ว่าต้องเป็นคนบางกลุ่มบางชาติเท่านั้น ถึงจะเป็นแชมป์ได้

นั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่าเธอไม่สนเรื่องเปลือกนอกอย่างแท้จริง