เสนอจัดเรตติ้ง ‘Influencer-Caster-Youtuber’ เพราะมีอิทธิพลต่อเด็กเล่นเกม

This image is not belong to usผลสำรวจเด็กเล่นเกมพบเด็กมัธยมเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กที่เล่นเกม เล่นเกมออนไลน์ทุกวัน บางส่วนเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดือนละ 5,000 บาท – เด็กอิสานเล่นเกมมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง มากกว่าภาคอื่น ๆ – เด็กที่เล่นเกม 79.24% เห็นด้วยให้มีการจัดเรตติ้งเกม – ด้านนักวิชาการและผู้ประกอบการ เสนอจัดเรตติ้ง ‘Influencer-Caster-Youtuber’ ด้วย เพราะมีอิทธิพลกับการตัดสินใจของเด็กเล่นเกม

เวที ‘Healthy Games, Happy Life : ความรับผิดชอบร่วมของสังคม’ เผยเด็กเล่นเกมบางส่วนเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดือนละ 5,000 บาท

เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2564 ที่โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) จัดงานเสวนาออนไลน์ “Healthy Games, Happy Life: ความรับผิดชอบร่วมของสังคม” ทาง Facebook Live สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน โดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ระบุว่าจากการเก็บข้อมูลในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ตลอดจน ปวส.และปริญญาตรี 3,292 คน เด็กกว่าร้อยละ 85 ที่ตอบว่าเคยเล่นเกม บางส่วนเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดือนละ 5,000 บาท

This image is not belong to us

เด็กมัธยมเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กที่เล่นเกม เล่นเกมออนไลน์ทุกวัน เด็กอิสานเล่นเกมมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง มากกว่าภาคอื่น ๆ

จากงานวิจัยพบว่าเด็กมัธยมไทยเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กที่เล่นเกม (ร้อยละ 31.06) เล่นเกมออนไลน์ทุกวัน โดยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่นเกมมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าภาคอื่น ๆ สำหรับความเห็นต่อแนวทางการจัดการแข่งขันวิดีโอเกมชิงรางวัล หรืออีสปอร์ต ร้อยละ 49.96 เห็นควรให้มีการกำกับไม่ให้มีการพนันในเกม หรือพนันทีมที่แข่งขัน ร้อยละ 49.93 เห็นควรให้มีการแจ้งกติกา ค่าใช้จ่าย หรือเงินรางวัล อย่างชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม ความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดที่เหมาะสมต่าง ๆ ด้านการโฆษณาแฝง – ไม่ควรมีสปอนเซอร์เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง (39.23%)

เด็กที่เล่นเกม 79.24% เห็นด้วยให้มีการจัดเรตติ้งเกม

ดร.ธีรารัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า ด้านเนื้อหาเกม – ควรจัดหาเกมที่มีเนื้อหาเหมาะกับช่วงวัย เช่น ไม่ลามกอนาจาร ไม่รุนแรงเกินวัย เป็นต้น (ร้อยละ 38.98) ด้านสถานที่ – ไม่ควรจัดการแข่งขันในโรงเรียน (17.12%) ด้านผู้เล่น – ควรได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ก่อนเข้าแข่งขัน (ร้อยละ 36.98) และควรกำหนดอายุผู้เข้าแข่งขันตามกติกาสากล คือ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ร้อยละ 16.30) นอกจากนี้ร้อยละ 79.24 เห็นควรให้มีการจัดระดับเนื้อหาในเกมให้เหมาะสมตามช่วงวัย หรือจัดเรตติ้งเกม

61.63% เล่นเกมเพราะไม่มีอะไรทำ

ส่วนสาเหตุที่เด็กเล่นเกมออนไลน์คือ เพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน (ร้อยละ 85.59) เพื่อคลายเครียด (ร้อยละ 74.50) เพื่อฆ่าเวลา (ร้อยละ 44.29) เพื่อหลีกหนีสังคม/โลกแห่งความเป็นจริง (ร้อยละ 15.83) เพื่อเข้าสู่การแข่งขันอีสปอร์ต (ร้อยละ 7.63) เพื่อหารายได้พิเศษ (ร้อยละ 7.31) แต่ที่น่าสนใจคือสาเหตุที่เด็กเล่นเกมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง พบว่าร้อยละ 61.63 ตอบว่า เพราะไม่มีอะไรทำในเวลาว่างที่ดีไปกว่านี้ ร้อยละ 50 ตอบว่า ยังไม่ได้ทำอะไรเสียหาย เพราะผลการเรียนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 12.09 ตอบว่า ผู้ปกครองสนับสนุนให้เล่น และเกือบร้อยละ 10 คาดหวังผลตอบแทน เช่น การได้รางวัล การได้อาชีพ จากการเล่นเกม

นายก สสดย. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออาการเมื่อไม่ได้เล่นเกมหรือเมื่อถูกบอกให้หยุดเล่นเกม ร้อยละ 75.25 ยังไม่แสดงอาการ แต่หันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นทดแทน โดยไม่รู้สึกอะไร ร้อยละ 32.56 เก็บความไม่พอใจไว้ภายใน เช่น อาการหงุดหงิด ไม่พอใจ แต่ไม่ได้แสดงอะไรออกมา ร้อยละ 8.10 เถียงกับคนที่ห้ามเล่นเกม แต่ไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือ ร้อยละ 5.71 เก็บตัว ไม่ไปโรงเรียน ไม่คุยกับใคร นอกจากนี้ยังพบว่า ยิ่งมีระยะเวลาในการเล่นเกมมาก จะยิ่งรับรู้คำเตือนจากคนอื่น ๆ น้อยลง นอกจากนี้เกมออนไลน์และอีสปอร์ตยังมีการพนันด้วย โดยเมื่อถามเด็กว่าทราบหรือไม่ว่าในเกมมีการพนัน ร้อยละ 49.35 รู้ ร้อยละ 22.15 ไม่รู้ และร้อยละ 28.50 ไม่แน่ใจ

พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้ อยากเรียกร้องให้มี Healthy Games คือให้มีนวัตกรรมเกมที่เล่นแล้วสร้างสรรค์ ไม่ทำลายในเรื่องของสมอง ไม่ได้เป็นเกมในลักษณะที่ต้องมาเฝ้าระวัง เช่น ปะทะต่อสู้ ใช้อาวุธ บุคลากรด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก เช่น สหวิชาชีพ คุณครู พ่อแม่ สังคมแวดล้อมรอบตัวเด็ก ต้องตื่นรู้พอสมควร ส่วนประเด็นความรับผิดชอบร่วมของสังคม อยากให้ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง และเป็นกระบอกเสียงมากขึ้น สื่อดีต้องกระจาย สื่อร้ายต้องจำกัด ฝากคุณพ่อคุณแม่ ถ้าจะให้ลูกเล่นเกม สิ่งหนึ่งต้องมีคือ Screen Content เรตติ้งต้องเหมาะสมกับอายุของเด็ก Screen Time เวลาที่พอเหมาะไม่มากจนเกินไป แค่นี้เกมก็จะสมดุล ห่างไกลจากโรคติดเกม

เสนอจัดเรตติ้ง ‘Influencer-Caster-Youtuber’ ด้วย เพราะมีอิทธิพลกับการตัดสินใจของเด็กเล่นเกม

ในขณะที่ ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูภาษาไทย ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า อยากให้จัดเสวนาอบรมหรือรวมกลุ่มของ Youtuber สิ่งนี้คือกลไกสำคัญที่สุด ชวนคนเหล่านี้มาทำกิจกรรมกับเด็ก พ่อแม่จะช่วยลูกไม่ได้เลย ถ้าทำตัวเป็นศัตรูกับลูก สถาบันการศึกษาและครอบครัวต้องแย่งซีนมา ถ้าการเล่นเกมเป็นซีนใหญ่ เราต้องดึงเวลาจากเกมมาให้ได้ โดยการหากิจกรรมอื่นให้ลูกทำ เช่น พาลูกไปเที่ยว โรงเรียนจัดกิจกรรมที่จะเหมาะสมให้เด็กได้ดึงศักยภาพออกมา และการเล่นเกมจะน้อยลง แต่ละครอบครัวเป็นโจทย์ของตัวเองว่ากิจกรรมอะไรที่เหมาะสมกับครอบครัว ที่อยากฝากคือ อย่าบังคับ อย่าไปริบมือถือเด็ก อย่าหักดิบ ควรมีช่วงจังหวะเวลาให้เด็กผ่อนคลายบ้าง คือต้องหาวิธีการและต้องสื่อสารด้วยเหตุและผล

นอกจากนี้ทางด้านผู้ประกอบการ ซึ่งมีตัวแทนคือ คุณกฤติน ภัทรศรีจิรากุล COO บริษัท Buriram United Esports ได้ให้ความคิดเห็นดังนี้ นอกจากการจัดเรตติ้งเกมแล้ว อยากให้มีการจัดเรตติ้งของ Influencer, Caster, Youtuber ต่าง ๆ ด้วย คนเหล่านี้คือเพื่อนของเขา เพราะชีวิตของเขาอยู่ในออนไลน์ และคนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีอิทธิพลกับการตัดสินใจของเขา และผมกล้าพูดว่ามันมี Influencer ที่ทำให้เด็กเข้าใจผิด สิ่งหนึ่งที่สมาคมอีสปอร์ตจะช่วยได้เลยคือ การลงทะเบียนนักกีฬา ให้เห็นเลยว่าคนนี้เป็นนักกีฬาจริง ๆ ไม่ใช่ไปอ้างว่าเป็นนักกีฬา และลงทะเบียนผู้จัดการแข่งขันด้วย ด้านภาครัฐขอให้จริงจังและเชิญคนที่เข้าใจจริง ๆ มาพูด มาให้ข้อมูล ไม่ใช่จะบอกว่าที่มีอยู่ไม่ดี แต่มีอีกหลาย ๆ คนที่เขาเข้าใจจริง ๆ และไม่มีโอกาสได้มาพูด มีคนอยากมาช่วยเรื่องนี้เยอะมาก

เผยเรตติ้งเกมได้ดำเนินการร่างเป็น พ.ร.บ.แล้ว

ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม เป็นช่วงการมอบข้อเสนอเชิงนโยบายความรับผิดชอบร่วมของสังคม ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานสำคัญที่จะสามารถร่วมผลักดันและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลการประกอบกิจการเกม และส่งเสริมการเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์

คุณประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงการรับมอบนโยบายครั้งนี้ว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ เราจะอยู่กับเกมอย่างไรให้เป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องสร้างสรรค์ เกิดการเรียนรู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์เป็น ส่วนเรื่องเรตติ้งเกม ในกฎหมายเดิมไม่มี แต่ตอนนี้เรตติ้งเกมได้ดำเนินการร่างเป็น พ.ร.บ.แล้ว เหลือขั้นตอนต่อไปคือ เสนอคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอ ครม. และเข้าสู่สภาเพื่อจัดทำเป็นเรตติ้งเกมต่อไป

นอกจากนี้ สสดย. ยังมอบข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวไปยังวุฒิสภา ผ่านคุณธนวัน ทองสุกโชติ คณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์สำหรับเด็กและเยาวชน วุฒิสภา โดยท่านได้กล่าวถึงการรับมอบครั้งนี้ว่า คณะทำงานซึ่งมีครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภาพ เป็นประธาน มีเจตนารมณ์ที่จะผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายเพื่อลดผลกระทบและแก้ปัญหาอันเกิดจากสื่อออนไลน์ ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยอันเกิดจากเกมออนไลน์ดังกล่าว คณะทำงานจึงขอรับข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 4 ข้อ เพื่อไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์


www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ