“เอไอเอส” ดันเทคโนโลยี AR-VR ปลุกมู้ดจับจ่าย ผุดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ V-Avenue.Co ปั้น “ศูนย์การค้าเสมือนจริง” พลิกโฉมค้าปลีก เดินหน้าผนึกพันธมิตรสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งยุคดิจิทัล หวังเสริมศักยภาพผู้ประกอบการSMEs เจาะตลาดนักช็อปรุ่นใหม่
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G, AR (augment reality) และ VR (virtual reality) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม
เห็นได้ชัดอย่างภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี VR ควบคุมงานจากระยะไกล หรือในธุรกิจบันเทิงที่นำมาใช้กับการจัดแข่งขันอีสปอร์ต และกำลังขยายไปยังอุตสาหกรรมกีฬา
และอีคอมเมิร์ซ คาดว่า AR และ VR จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโตถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 45 ล้านล้านบาท และภายในปี 2573 จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมทั่วโลกกว่า 23 ล้านตำแหน่ง
จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดหาย โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก และ SMEs เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายจึงต้องการช่วยธุรกิจต่าง ๆ
ในการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคผ่านเทคโนโลยี 5G, 4G, fibre broadband, super WiFi, AR และ VR ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ V-Avenue.Co เป็นศูนย์การค้าเสมือนจริง
โดยร่วมกับพันธมิตรธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ เช่น The Emporium The Mall Life Store Ngamwongwan และเอสเอ็มอีกว่า 210 แบรนด์ นำสินค้ากว่า 10,000 รายการ มาจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม
จุดเด่น V-Avenue.Co คือ ลูกค้าสามารถชมสินค้า กดซื้อ และจ่ายเงินผ่านดิจิทัลเพย์เมนต์ในแพลตฟอร์มได้ทันที
“เราเลือกสร้างแพลตฟอร์มให้อยู่ในลักษณะของเว็บไซต์ เพราะต้องการให้คนเข้าถึงง่าย และกว้างที่สุด ในอนาคตอาจขยายแพลตฟอร์มให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นด้วย
ศูนย์การค้าเสมือนจริงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อแข่งกับอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มอื่น และไม่ได้หวังผลกำไรในช่วงแรก
แต่ต้องการเป็นช่องทางเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่และตั้งเป้าไว้ว่าจะดึงให้เอสเอ็มอีให้เข้าร่วมได้หลักพันรายและสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้ 10-50%”
สำหรับการทรานส์ฟอร์มร้านค้าให้เข้ามาในแพลตฟอร์มอาจต้องใช้เวลา และขึ้นอยู่กับความพร้อมของร้านค้าด้วย ส่วนลูกค้าเป้าหมายจะเป็นกลุ่มที่ต้องการลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีกำลังซื้อ คิดเป็น 10-15% ของประชากรในประเทศ
“เป้าหมายหลักของเรา คือต้องการให้ภาคธุรกิจมีพื้นฐานเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นฐานลูกค้าเอไอเอสกว่า 41.4 ล้านเลขหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ลูกค้าของเอไอเอสได้ประโยชน์และสิทธิพิเศษจากการเข้ามาช็อปปิ้งในแพลตฟอร์มนี้เช่นกัน”
นายปรัธนาย้ำว่า เอไอเอสมีแผนรับมือพร้อมรับกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยวิกฤตโควิด-19 เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าดิจิทัลดิสรัปชั่นมาเร็วกว่าที่คิด และกระจายไปในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงต้องทำงานได้ต่อเนื่องรองรับปริมาณการใช้งานที่มากขึ้น และรองรับบริการใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป